น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ครอบคลุม คล่องแคล่ว คุณภาพ คุ้มครอง ครบ 24 ชั่วโมง

10 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
ในอดีตเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบการจัดการรักษาพยาบาล อุปกรณ์ รวมไปถึงบุคลากรในการลงปฏิบัติหน้าที่ยังขาดประสิทธิภาพและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง การเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและวางแผนการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในประเทศไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” จึงถือกำเนิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินปี 2551 เพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบการบริหารการจัดการ การประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ

[caption id="attachment_43715" align="aligncenter" width="335"] น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร[/caption]

“ประเทศไทยมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานซึ่งบุคคลเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัยโดยมีการจัดการอย่างมีส่วนร่วม” น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ดำเนินงานสานต่อเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ด้วยหลักการ 5ค ประกอบด้วย “ครอบคลุม” การเพิ่มหลักสูตรแพทย์พยาบาลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในภาคการศึกษาหลากหลายสถาบัน พร้อมกับการให้ความสำคัญในการฝึกอบรมสร้างประชาชนในทุกชุมชนให้เกิดองค์ความรู้ทางแพทย์พยาบาล เพื่อเข้าถึงเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

“คล่องแคล่ว” การวางรากฐานด้านการให้การศึกษาและองค์ความรู้ ก่อให้เกิดบุคลากรที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบหน่วยกู้ชีพเพิ่มมากขึ้น อาทิ ศูนย์เอราวัณ จึงเกิดเป็นความคล่องแคล่วว่องไวสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ภายในกรอบเวลาเพียง 8 นาที ทำให้ผู้รับบริการเกิดความสบายใจและได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันด้าน “คุณภาพ” สพฉ.สนับสนุนให้มีการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการดำเนินการของหน่วยบริการต่างๆ ให้มีขีดความสามารถสู่มาตรฐานความปลอดภัยทัดเทียมระดับสากลอย่างต่อเนื่อง

ด้านความ “คุ้มครอง” สพฉ.มีการเตรียมการป้องกันและดูแลผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่และเสียชีวิต โดยแผนการดำเนินงานในอนาคตในส่วนของการคุ้มครองได้มีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเข้ามารองรับมากยิ่งขึ้น และ “ครบ 24 ชั่วโมง” เพื่อตอบโจทย์ “เหตุฉุกเฉิน” ที่พร้อมเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยปัจจุบันเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพ สาธารณภัย พร้อมให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง

การขับเคลื่อนหลัก 5 ค. น.พ.อนุชา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้วย “ค” ทั้ง 5 เช่นเดียวกัน คือ “คน” เป็นอันดับแรก เพื่อให้บุคลากรที่ได้รับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติทุกคนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ พร้อมตอบสนองการดำเนินการเชิงกลยุทธ์สู่เป้าหมายที่สำคัญ ขณะเดียวกัน “โครงสร้าง” ทาง สพฉ.ได้ให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการติดต่อสื่อสารและประสานงานทั้งภายในและภายนอกสถาบัน ด้าน “ความรู้” ข้อมูลข่าวสารได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเชื่อมโยงระบบสารสนเทศในการตอบสนองต่อการตรวจสอบและติดตามประเมินผลในทุกระดับ สำหรับ “เครือข่าย” การประสานงานทั้ง 4 กลุ่มหลัก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ให้บริการ ผู้ซื้อ ผู้ผลิต และผู้ควบคุมคุณภาพ สามารถส่งเสริมและสนับสนุนร่วมกันเป็นอย่างดี และสุดท้าย “คลัง” การจัดการหาและคัดสรรทรัพยากรและการสนับสนุนต่างๆ ให้มีความพร้อมและพอเพียงต่อการขับเคลื่อนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ฉะนั้นแล้วการดำเนินงานตามกรอบเป้าหมายหลักการ 5ค บรรลุผลสำเร็จ สามารถเชื่อมั่นและมั่นใจได้เลยว่าการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะเป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานระดับสากล

[caption id="attachment_43714" align="aligncenter" width="335"] น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร น.พ.อนุชา เศรษฐเสถียร[/caption]

ที่ผ่านมา สพฉ.ได้รวบรวมสถิติการออกปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินพบว่ามีกว่า 1.3 ล้านครั้งต่อปี โดยเมื่อพิจารณาดูแล้วยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแผนการพัฒนาได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “จะต้องมีการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มากกว่า 2.5 ล้านครั้งต่อปี” ยิ่งไปกว่านั้นในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ผ่านมา ทาง สพฉ.ได้เป็นผู้ประสานหลักในการพูดคุยกับสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพของทุกประเทศในอาเซียนด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการพร้อมรับสาธารณภัยต่อไป

“บาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 โทรฟรีแต่อย่าโทรเล่น” ติดต่อ สพฉ. ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตด้วยเว็บไซต์ www.niems.go.th สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ครอบคลุม คล่องแคล่ว คุณภาพ คุ้มครองครบ 24 ชั่วโมง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559