ภูธรแห่ขอสินเชื่อบ้านประชารัฐ บิ๊กอสังหาฯได้อานิสงส์หัวเมือง

09 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
ภูธรหัวเมืองใหญ่-ชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตื่นแห่ขอสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐทะลักเชียงใหม่-เชียงราย –ขอนแก่น –แม่สอด บิ๊กอสังหาฯ "แสนสิริ –คิวเฮ้าส์" ได้อานิสงส์ ขณะที่รายใหญ่พื้นที่ถือโอกาสระบายสต๊อก บางรายยอมหั่นราคาลงเพื่อให้เข้าเกณฑ์บ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ด้านธ.ออมสิน คาดยอดกู้อนุมัติผ่าน 60-70% จากที่ยื่นทะลุ 3.45 หมื่นล้านบาท คาดปล่อยจริงกว่า 2 หมื่นล้านบาท แย้มอาจขยายวงเงินโพสแนนซ์เพิ่ม

นายพงศกร ตุลานนท์ ผู้จัดการเขต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เขต 1 สำนักงานเขตเชียงใหม่เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่านับตั้งแต่ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดให้บริการโครงการบ้านประชารัฐ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตนเองโดยเฉพาะบ้านหลังแรก ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 เป็นต้นมาพบว่าพื้นที่ 4 จังหวัดที่สำนักงานธอส.เขต1 ดูแลรับผิดชอบ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประชาชนให้ความสนใจยื่นขอสินเชื่อและสอบถามข้อมูลเข้ามาคึกคัก โดยถึงวันที่ 4 เมษายน 2559 จำนวน 1,267 ราย วงเงินประมาณ700 ล้านบาท และเชื่อว่ายังทยอยยื่นเรื่องขอกู้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ มีลูกค้าเข้ามาสอบถามข้อมูล 482 ราย วงเงิน 450 ล้านบาท(ข้อมูล 4 เม.ย.2559) ซึ่งหากรวมทั้ง 4 จังหวัด มียอดอนุมัติวงเงินกู้แล้ว 21 ล้านบาท ส่วนที่เหลือรอตรวจเอกสารเพิ่ม ส่วนใหญ่จะกู้เพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินปลูกสร้าง ส่วนปัญหาที่พบคือเรื่องเครดิตบูโร เช่นเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระ จากภาระหนี้ที่มีอยู่ หรือเป็นบ้านหลังแรกตามวัตถุประสงค์"บ้านประชารัฐ" หรือไม่ และจากการสอบถาม นางภาลินี โง้วสกุล ผู้บริหารโครงการบ้านเพิ่มทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ 13 หลังเป็นบ้านแฝดจาก 120 แปลง ทำเลอำเภอหางดงราคา 1.59 ล้านบาทต่อหน่วย แต่ได้ยอมลดราคาลง 9 หมื่นบาทเพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ธอส.กำหนดอย่างไรก็ดีมองว่าบ้านมือสองจะได้อานิสงส์มากกว่า

นอกจากนี้จากการสำรวจพื้นของ "ฐานเศรษฐกิจ"อาทิที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์เขต2เชียงราย ซึ่งรับผิดชอบ4จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พบว่า เพียง 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม- 4 เมษายน 2559 มี ลูกค้า ให้ความสนใจติดต่อยื่นขอสินเชื่อ รวม 788 ราย วงเงิน 599.69 ล้านบาท โดยเป็นผู้ยื่นขอกู้จากจังหวัดเชียงรายมากถึง 432 ราย วงเงิน 333.60 ล้านบาท เนื่องจาก เป็นเมืองท่องเที่ยวค้าชายแดนและถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีปริมาณอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมาก กว่า 50 โครงการ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมมากกว่าการยื่นขอกู้เพื่อสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง

ทั้งนี้ โครงการที่ได้อานิสงส์จะเป็นคอนโดมิเนียมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการจากส่วนกลางอาทิ ค่ายแสนสิริ คิวเฮ้าส์ ฯลฯ ที่เข้ามาพัฒนาโครงการระดับ 1.3 ล้านบาท ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทและเป็นโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่จำนวนมาก รวมถึงทาวน์เฮาส์ขนาดชั้นเดียวในท้องถิ่น ราคาไม่เกิน1.5ล้านบาท อีกทั้งบ้านมือสอง ส่วนบ้านเดี่ยวราคาจะสูงจึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้อาทิ บริษัท สินธานีฯ ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ในพื้นที่

สอดคล้องกับนายประพัฒน์พงศ์ อัจฉรารุจิ ประธานกรรมการบริษัท เสรี กรีนพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า จากผลกระทบจากโครงการคอนโดมิเนียมในอำเภอแม่สอดล้นตลาด ไม่ต่ำกว่า 3 พันหน่วย ส่งผลให้โครงการเบสคอนโดของบริษัทประสบกับปัญหาทิ้งจองจำนวนมาก อย่างไรก็ดีบริษัท ได้อาศัยจังหวะจากโครงการบ้านประชารัฐ เพราะราคาที่ขายอยู่ในเงื่อนไขไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ต่อหน่วย ขณะที่ดอกเบี้ยธอส. ก็ต่ำจูงใจ มองว่าโครงการนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจลูกค้ามากขึ้น

ส่วนหัวเมืองใหญ่ภาคอีสาน นายชาญณรงค์ บุริศตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท อีสานพิมานกรุ๊ป จำกัด และในฐานะประธานชมรมผู้ค้าอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนใหญ่คอนโดมิเนียมใหม่และบ้านมือสองจะได้อานิสงส์จากโครงการบ้านประชารัฐ รวมแล้ววงเงินไม่น่าเกิน 500ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทสนใจกู้สินเชื่อ (พรีไฟแนนซ์) เพื่อพัฒนาโครงการ บ้านแนวราบ 2 โครงการ เป็นทาวน์เฮาส์ชั้นเดียว ระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งมองว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนอยากมีบ้านหลังแรกซื้อบ้านตามมาตรการนี้ได้

ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยระบายสต๊อกอสังหาฯได้มาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีโครงการบ้านและคอนโดฯที่มีระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาคเหนือ 300 หน่วยบ้านเดี่ยว 250 หน่วย อาคารชุด 50 หน่วย ภาคอีสาน 250 หน่วย เป็นต้น (อ่านประกอบ "บิ๊กอสังหา ฯเมินกู้ประชารัฐ" หน้า 33)

ด้านนายชาติชาย พยุพนาวิชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการปล่อยสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐสำหรับรายย่อย (Post Finance) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารที่ลูกค้ายื่นขอสินเชื่อเข้ามายังธนาคาร แม้ปัจจุบันธนาคารจะปิดรับคำขอไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ไปแล้ว โดยมียอดผู้ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม - 1 เมษายน 2559 รวมกว่า 3.14 หมื่นราย เป็นวงเงินขอรับสินเชื่อ 3.45 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารรวมถึงพิจารณาสินเชื่อ 1-2 เดือน เบื้องต้นคาดจะอนุมัติสินเชื่อผ่าน 60-70%จากจำนวนผู้แจ้งความประสงค์มาทั้งหมด หรือเป็นวงเงินที่คาดจะอนุมัติได้ราว 2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559

ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ได้ตั้งข้อสังเกตโครงการบ้านประชารัฐว่า จุดเสี่ยงของโครงการนี้อาจทำให้ คนรายได้น้อย บางส่วนอาจจะซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีศักยภาพทางด้านการเงิน โดยกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพทางการเงิน เกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มเกณฑ์Debt to service ratio ให้สูงขึ้นเป็น 50%ซึ่งอยู่เหนือจุดเหมาะสม และผลเสียจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ก่อให้เกิดภาระหนี้ที่ยาวนาน (รัฐให้ผ่อนนานถึง 30 ปี)

ดังนั้นในอนาคต อาจจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีที่คาดไม่ถึง เช่น 1.เศรษฐกิจตกตํ่าไม่มีกำลังทรัพย์เพื่อผ่อน2.การย้ายถิ่นที่อยู่/ที่ทำงานและ 3. โครงสร้างบ้านจะต้องเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในอนาคต เช่นคนมีรายได้น้อยจะไม่สามารถซื้อบ้านใหม่ได้ง่าย ดังนั้น การออกแบบบ้านจะต้องคำนึงถึงการใช้ชีวิตในยามชราด้วย เป็นต้น และอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมีปัญหาก็คือ กลุ่มธุรกิจเช่าบ้านที่อาจจะสูญเสียลูกค้าไป และธุรกิจบ้านใน segment อื่นๆที่อาจจะถูกดึงความต้องการให้ซบเซาลง

ทั้งนี้ครม.ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็น 1ใน 2 ธนาคารที่สามารถอนุมัติสินเชื่อสำหรับผู้กู้รายย่อย ( Post Finance ) เพื่อใช้ในการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทหรือขอกู้เพื่อนำไปซ่อมแซมที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกินรายละ 5 แสนบาท อย่างไรก็ดี หากอนุมัติสินเชื่อแล้ววงเงินสูงเกิน 2 หมื่นล้านบาท ธนาคาร อาจพิจารณาขยายสินเชื่อวงเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมกับผู้ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยเบื้องต้นพบว่าสัดส่วนของผู้ยื่นขอสินเชื่อมากกว่า 60% เป็นผู้กู้ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนอีก 40% มาจากต่างจังหวัด ส่วนใหญ่จะกู้เพื่อซื้อบ้านหลังแรกมากกว่าการกู้เพื่อซ่อมแซม

โครงการบ้านประชารัฐจะคิดอัตราดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 1.กรณีกู้ไม่เกิน 7 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรก 0% ต่อปี, ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ย 2%, ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ย5%, ปีที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเลือกผ่อนได้สูงสุดนาน 30 ปี

2.กรณีวงเงินกู้มากกว่า 7 แสนบาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 เท่ากับ 3% ต่อปี,ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ย 5% ส่วน ปีที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยลอยตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559