ส.อ.ท.โวยร่างกองทุนนํ้ามันฯ จี้สนพ.ทบทวนไม่เก็บเงินจากวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

08 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
กลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท.ยื่นหนังสือถึงสนพ.ขอทบทวนร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่ หลังให้อำนาจคณะกรรมการฯ เรียกเก็บเงินจากวัตถุดิบและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้ ชี้จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เสียเปรียบคู่แข่งขัน นักลงทุนขาดความมั่นใจลงทุนตามนโยบายเร่งรัดในรูปแบบคลัสเตอร์ปิโตรเคมี เสนอให้มีการเก็บเงินเฉพาะที่เป็นเชื้อเพลิงใช้ในประเทศเท่านั้น

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ทางกลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ที่สนพ.ได้ยกร่างขึ้นมา ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนนั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากในร่างดังกล่าวได้มีการระบุอำนาจของคณะกรรมการฯ สามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯได้ จากการจัดหาวัตถุดิบและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จากเดิมที่จำกัดการเรียกเก็บเฉพาะจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศของโรงกลั่นน้ำมันและของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการปิโตรเคมี เนื่องจากจะส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่สามารถแข่งขันและเกิดความเสียเปรียบคู่แข่งขัน

ในขณะเดียวกันปิโตรเคมีไม่สามารถรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ได้เหมือนกับน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมการชดเชยเป็นวัตถุดิบ จึงเกิดความไม่เป็นธรรมกับการใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีนอกจากนี้รัฐบาลในอดีตได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และต้องการให้มีการพัฒนาศักยภาพแข่งขันกับนานาชาติ เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทำรายได้ในการส่งออกพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้กับประเทศ ติดอันดับ 1 ใน 5 มาโดยตลอดอีกทั้ง คำนิยามน้ำมันเชื้อเพลิงมีความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงโปรบิลีน บิวทิลีน และอาจรวมถึงแนฟทา และเรฟฟอร์เมก ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรือได้รับเงินชดเชย แต่ภายใต้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว การใช้วัตถุดิบดังกล่าวจะถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย ได้รับผลกระทบทั้งหมดและไม่อาจแข่งขันกับผู้ประกอบการทั่วโลกได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรือชดเชยจากกองทุน ควรจะเรียกเก็บหรือชดเชยจากการจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงใช้ในประเทศแทนการผลิต รวมถึงการผลิตที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบภายในโรงกลั่นหรือโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและสารละลายไม่ควรมีภาระกองทุนน้ำมันฯ เกิดขึ้น เนื่องจากการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน จากการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบปิโตรเคมีภายในโรงกลั่นหรือโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะทำให้ต้นทุนสูง เพราะที่ผ่านมาได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต

ประกอบกับจะเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันกับผู้ผลิตอื่นๆ ในต่างประเทศที่ไม่มีภาระกองทุนน้ำมันฯ ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมนฯได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของร่างพ.ร.บ.โดยปัจจุบันผู้ค้ามาตรา 7 ที่จำหน่ายมันเชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรือรับเงินชดเชยตามมาตรา 25 ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2555 ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและโรงงานอะโรเมติกส์ ที่ผลิตและใช้เป็นวัตถุดิบภายใน ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาในอดีต การเรียกเก็บเงินกองทุนหรือการได้รับเงินชดเชย จะอยู่บนพื้นฐานของการใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ โดยไม่รวมการใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี และไม่รวมถึงการผลิตที่ใช้เองเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบ

ดังนั้น กลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท.เห็นว่า ทางกระทรวงพลังงานควรจะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.ต่อไป ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในการลงทุน และจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนตามนโยบายเร่งรัดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมในขณะนี้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559