ปรับตัวอย่างไรให้ทัน เมื่อเซเนกัลลดนำเข้าข้าว

07 เม.ย. 2559 | 12:00 น.
เซเนกัล ประเทศทางแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้เป็นประเทศที่นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก เซเนกัลนำเข้าข้าวจากต่างประเทศกว่า 1 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นข้าวที่นำเข้าจากไทยจำนวนไม่น้อย เพราะเซเนกัลไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ แต่วันนี้คงต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงของตลาดข้าวเซเนกัลอย่างใกล้ชิด เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี มาร์กี ซอลล์ (Marky Sall) ส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นปลูกข้าวมากขึ้น ลดการนำเข้าสินค้าเกษตร และเร่งเพิ่มการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

[caption id="attachment_43289" align="aligncenter" width="500"] แผนการพัฒนาเซเนกัล (The Emerging Senegal Plan) แผนการพัฒนาเซเนกัล (The Emerging Senegal Plan)[/caption]

รัฐบาลเซเนกัลกำลังเตรียมเร่งส่งเสริมให้ประชาชนปลูกข้าว ภายใต้แผนการพัฒนาเซเนกัล (The Emerging Senegal Plan) มีนโยบายสำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่

•นโยบาย Riz de la vallee ที่ส่งเสริมการปลูกข้าวตามที่ลุ่มแม่น้ำเซเนกัล เร่งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ

•นโยบาย Auto-sufficiency in Rice ที่จะมุ่งเร่งให้เซเนกัลสามารถพึ่งพาตนเองเรื่องข้าวในปี 2560 นอกเหนือจากนั้น ยังหวังผลให้เกิดการเพิ่มการจ้างงานในชนบทและลดความยากจน
แม้ว่าในปัจจุบัน เซเนกัลยังต้องพึ่งพาข้าวจากต่างประเทศอยู่ เพราะปลูกข้าวเองได้เพียง 4 แสนตัน ในขณะที่มีความต้องการข้าวถึง 1.5 ล้านตัน รัฐบาลเซเนกัลได้เริ่มแล้วกับมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของการกำหนดอัตราการนำเข้าข้าว (import quotas) ตามอัตราส่วนของข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศ แถมชาวเซเนกัลก็เริ่มนิยมหันมาบริโภคข้างท้องถิ่นที่ใช้ตรา ORIGINE SENEGAL การันตีคุณภาพ แน่นอนว่า ไทยต้องได้รับผลกระทบในการส่งออกข้าวไปยังเซเนกัลได้ลดลงไม่มากก็น้อย

ผู้ประกอบการส่งออกข้าวไทยต้องปรับตัวให้ทัน แต่ทำอย่างไร? สถานทูตไทยประจำเซเนกัล (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์) ได้ชี้แนะ 2 ช่องทางเบื้องต้นไว้ให้ ดังนี้

1. โฟกัสกับตลาดบน "ข้าวหอมมะลิหัก" ของไทยจัดอยู่ในกลุ่มสินค้า "luxury" คุณภาพสูงในเซเนกัล ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเซเนกัลในเขตเมืองและผู้มีรายได้สูง และจะยังคงได้รับความนิยมในเซเนกัลต่อไป ปัจจุบัน 95% ของข้าวที่เซเนกัลนำเข้ามาจากภูมิภาคเอเชีย และตั้งแต่ปี 2540 จำนวน 2 ใน 3 ของข้าวหักนี้นำเข้าจากประเทศไทย คุณลักษณะเฉพาะของข้าวหอมมะลิไทยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบและแทนที่ได้

2. ลองบุกตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร ไทยในฐานะประเทศผู้ให้รายใหม่ได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในด้านเทคนิคการเพาะปลูกข้าวแก่เซเนกัลรวมถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก จุดเด่นและความเชี่ยวชาญของไทยในเรื่องเทคนิคการปลูกข้าว และความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรกระชับความสัมพันธ์กับเซเนกัล นับเป็นอีกช่องทางสำคัญที่จะสร้างโอกาสในการส่งออกเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรสำหรับการผลิตข้าวของไทย ไม่ว่าจะเป็น รถไถ รถแทร็กเตอร์ เครื่องพ่นหว่านเมล็ดข้าว เครื่องดำนา เครื่องเกี่ยวนวดข้าว ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกต่อไป

หากเห็นช่องทาง ผู้ประกอบการควรศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม สถานทูตไทยในภูมิภาคแอฟริกายินดีให้คำแนะนำเช่นเคย

อัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559