Q1ขาดดุลการคลัง2.38แสนล้าน ผลพวงรัฐวิสาหกิจใหญ่‘ปตท.-การบินไทย’มีรายได้ลดลง

11 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
คลังระบุไตรมาส 1/2559 ขาดดุลการคลัง 2.38 แสนล้านบาทหรือ 1.7%ของจีดีพีเพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ "ปตท.-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต-ทีโอที" มีรายได้ลดลง เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายลดลง ย้ำดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะขาดดุล 1.71 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 1.2% ของจีดีพี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบ สศค. (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม-ธันวาคม 2558) ขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 2.38 แสนล้านบาท (คิดเป็น 1.7% ของ GDP) โดยขาดดุลเพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ภาคสาธารณะมีรายได้รวม 1.58 แสนล้านบาท ลดลง 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.58 แสนล้านบาท เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลง

สำหรับด้านรายจ่ายภาคสาธารณะมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1.82 ล้านล้านบาท ลดลง 1.38 แสนล้านบาทหรือ 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ (บมจ. ปตท. และ บมจ. การบินไทย) มีการเบิกจ่ายลดลง ทั้งนี้ ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึง ผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 1.71 แสนล้านบาท (คิดเป็น 1.2% ของ ( GDP)

"ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล โดยมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของรายจ่ายรัฐบาล และรายจ่ายเงินกู้โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน โดยการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว"

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะการคลังภาครัฐบาลนั้นว่ารัฐบาลมีรายได้รวม 7.49 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.49 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 5.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.76หมื่นล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือ 9.0% สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การนําส่งสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนําส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) สำหรับกองทุนนอกงบประมาณ มีรายได้ทั้งสิ้น 1.71 แสนล้านบาท ลดลง 2,753 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็น 1.6% โดยมีสาเหตุจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากเงินนำส่งเข้ากองทุนจากการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง

ในด้านรายจ่าย ภาครัฐบาลมีการเบิกจ่ายรวม 9.74 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว กว่า 7.04 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7.8% ประกอบด้วย รายจ่ายรัฐบาล 8.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.03 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.0% , รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 2.93 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.รายจ่ายตามแผน ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง จำนวน 634 ล้านบาท (2) รายจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) จำนวน 626 ล้านบาท เป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการจัดหาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ด้วยเครื่องเอกซเรย์ ระยะที่ 5 จำนวน 226 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ 4 สายทาง จำนวน 148 ล้านบาท (3) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 235 ล้านบาท

4. รายจ่ายเงินกู้โครงการเพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน จำนวน 2.77 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 1.09 หมื่นล้านบาท กรมทางหลวง จำนวน 1.07หมื่นล้านบาท และ 5. รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 33 ล้านบาท, รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ จำนวน 9.89 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3,635 ล้านบาท คิดเป็น 3.8% โดยมีสาเหตุมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น, ดุลการคลังของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 ขาดดุล 2.24แสนล้านบาท (คิดเป็น 1.6% ของ GDP) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.55 หมื่นล้านบาท หรือ 12.8%

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า สำหรับฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้ จำนวน 1.69 แสนล้านบาท ลดลง 9.56พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็น 5.3% สาเหตุหลักเกิดจากการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลลดลง 1.05 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้เพิ่มขึ้น 770 ล้านบาท ด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่าย จำนวน 1.34แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.67 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 16.6% จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 3.52 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 0.3% ของ GDP) เกินดุลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.71 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (รัฐวิสาหกิจฯ) มีรายได้ 8.95 แสนล้านบาท ลดลง 1.89 แสนล้านบาทคิดเป็น 17.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากบมจ. ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบมจ.ทีโอที มีรายได้ลดลงจำนวน 1.65 แสนล้านบาท และ 4,453 ล้านบาท ตามลำดับ และมีรายจ่ายรวม 9.44 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.78 แสนล้านบาท หรือ 15.9% โดยมีสาเหตุหลักจากการที่บมจ. ปตท. การบินไทย มีรายจ่ายประจำลดลง 1.67แสนล้านบาท และ 1.47 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจฯ ขาดดุล 49,531 ล้านบาท (คิดเป็น 0.4% ของ GDP)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559