‘คลัง’ยํ้าจุดยืนปฏิรูปตลท.หวังกระจายอำนาจ

11 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
คลังย้ำปฎิรูปตลาดหลักทรัพย์ หวังกระจายอำนาจให้นักลงทุนมากขึ้น ระบุปัจจุบันอำนาจการบริหาร-กำหนดทิศตลาดทุนไทยกระจุกเพียงไม่กี่คน ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนไทยห่วงหากรัฐบาลมาเป็นเจ้าของตลท. อาจกระทบต่อวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ระบุยอมเสียภาษีนิติบุคคล 20% หากรัฐต้องการใช้เงิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความกังวลต่อกรณีที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ออกมาพูดถึงแนวทางว่ากระทรวงการคลังจะเข้าไปถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นั้น ยืนยันว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทำแผนตลาดทุนในระยะ 5 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2559 –2563 แต่แผนดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน คงต้องรอผลศึกษาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสียก่อน

"ภายใต้แผนดังกล่าว ยังไม่มีข้อใดสรุปว่ากระทรวงการคลังจะเข้ามาถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด แต่แผนระยะ 5 ปีจะเน้นการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ให้มีเจ้าของที่แท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาอำนาจการบริหารรวมถึงอำนาจการตัดสินใจในการกำหนดแผนพัฒนาตลาดทุน ตลอดจนบทบาทการบริหารและกำหนดทิศทางกลับอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น จึงไม่ถือว่าการบริหารมีความเป็นเอกภาพ ขณะที่แผนพัฒนาตลาดทุนฉบับใหม่จะทำให้ตลาดทุนมีเจ้าของที่แท้จริงเสียที ที่สำคัญทำให้ตลาดทุนไทยมีนักลงทุนเพิ่มขึ้น สามารถกระจายหุ้นไปสู่มือนักลงทุนรายย่อย การกระจายหุ้นที่เหมาะสมรวมถึงทำให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบความโปร่งใสของผู้ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เรียกว่าตั้งแต่นักลงทุนรายย่อย โบรคเกอร์ และทุกกลุ่มมีแผนพัฒนาที่แท้จริง"

ในส่วนของข้อกังวลที่ว่า หากกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นในตลท.นั้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จนห่วงว่าจะทำให้ตลาดทุนไทยถูกแทรกแซงจากนักการเมือง เรื่องนี้ยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริงเนื่องจากการปรับโครงสร้างรูปแบบใหม่จะทำให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่บุคคลหลายกลุ่มมากขึ้น ดังนั้นการตรวจสอบย้อนหลังทั้งในแง่ของธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้น เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนเพียง2-3 รายการจะเข้าแทรกแซงจากนักการเมืองจึงเป็นไปไม่ได้ต่างจากปัจจุบันเสียอีก และเป็นแนวทางที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการจะเห็น และการปรับแผนตลาดทุนครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่นายอภิศักดิ์ นำมาปรับปรุงเพื่อให้เกิดเป็นแผนที่เหมาะสม รองรับการเติบโตของตลาดทุนไทยที่จะเกิดขึ้นใน 5 ปีจากนี้

นอกจากนี้หากดูแผนพัฒนาในหลายๆประเทศที่มีการซื้อขายหรือมีตลาดหุ้นขนาดใหญ่ก็ทำในลักษณะดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น หากตลาดหลักทรัพย์ของไทยไม่ทำบ้างท้ายสุดตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็จะไม่โตไปไหนเสียที

ขณะที่แหล่งข่าววงในอีกราย เปิดเผยถึงเบื้องหลังเรื่องดังกล่าวว่ามาจากประเด็นที่คาราคาซังใน เรื่องเงินที่ตลท.ได้รับจากการดำเนินงาน ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากพอควร ทำให้เกิดคำถามว่าเงินจากผลกำไรสะสมที่ได้กว่า 2 หมื่นล้านบาทควรที่จะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดที่เป็นเจ้าของ โดยเป็นเรื่องที่หารือกันมานาน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ทั้งนี้นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่าทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยไม่เห็น หากรัฐจะเข้ามาถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของในตลท. เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการให้เป็นองค์กรอิสระ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผิดปกติ"

ทั้งนี้สภาธุรกิจตลาดทุน พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทางภาครัฐ ผ่านทางคณะทำงานแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และยอมรับการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ต้องไม่ใช่รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น หรือ เป็นเจ้าของกิจการ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลต้องการเงินหรืองบประมาณ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ตลท.ก็พร้อมที่จะให้การตอบแทนคืนผ่านการเสียภาษีนิติบุคคล 20% เหมือนกับนิติบุคคลรายอื่นและต้องไม่ใช่เป็นการเรียกเก็บย้อนหลัง โดยปัจจุบัน ตลท. มีกำไรสะสมสุทธิ 2 หมื่นล้านบาท

"ที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลเสนอแนะกับรัฐบาลอยู่สม่ำเสมอ ภายใต้การประชุมทำแผนพัฒนาตลาดทุน โดยภายในเดือนเมษายนนี้ คาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องความเป็นเจ้าของของ ตลท. โดยอาจจะออกเป็นมาลักษณะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีความเป็นเจ้าของแต่มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการ ตลท. หรือมีการจัดตั้งความเป็นเจ้าของขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของ ตลท. ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดทุน" นางวรวรรณ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559