ความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้น  ผลสำรวจระบุปัจจัยในประเทศมีอิทธิพลฉุดตลาด

05 เม.ย. 2559 | 06:40 น.
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนเมษายนพบอีก 3 เดือนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 96.14 เหตุมีเงินไหลเข้าส่งตลาดหุ้นคึกคัก  ระบุปัจจัยภายในประเทศเป็นตัวฉุดสำคัญของตลาดหุ้น

นายคเณศ  วังส์ไพจิตร  ผู้อำนวยการ  สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)  เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนเมษายน  2559 โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนมิถุนายน 2559) ของนักลงทุนอยู่ที่ 96.14 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 94.30 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนที่ทำให้ตลาดหุ้นมีความคึกคักมากขึ้น  อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว  ยังเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต้องจับตามองด้วย

ทั้งนี้  หากพิจารณารายกลุ่มของนักลงทุน  พบว่า ดัชนีนักลงทุนรายบุคคลอยู่ที่ 98.20 ตามด้วยสถาบันในประเทศที่ 96.53 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศกลับปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 87.50 อย่างไรก็ดีความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยสะท้อนได้จาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงถึง 13.4 ล้านล้านบาท  เพิ่มขึ้น 6.35% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายในหลักทรัพย์เฉลี่ยสูงถึง 5.11 หมื่นล้านบาทต่อวัน

สำหรับพฤติกรรมของนักลงทุนต่างประเทศนั้น  เริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 1.38 หมื่นล้านบาทต่อวัน  เพิ่มขึ้นถึง 32.13% จากเดือนที่ผ่านมา  ทำให้สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศเท่ากับ 27.07% ด้านนักลงทุนรายบุคคลมีสัดส่วนการซื้อขาย 51% ลดลงจากปีที่ผ่านมา 13.56% ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศมีสัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

นายคเณศ  กล่าวอีกว่า  ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดนั้น  กลุ่มรายบุคคลมองว่าการไหลเข้าของเงินทุนส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นมากที่สุด  รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและนโยบายของภาครัฐ ด้านกลุ่มสถาบันในประเทศส่วนใหญ่มองว่าการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพล  รองลงมาคือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ  หรือเฟด (FED) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ  ด้านกลุ่มสถาบันต่างประเทศเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากที่สุด  รองลงมา คือ นโยบายของภาครัฐ และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก

ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดนั้น  กลุ่มรายบุคคลเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน  การไหลเข้า-ออก ของเงินทุนเป็นปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด  ด้านกลุ่มสถาบันในประเทศเห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน  รองลงมา คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก  และการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ส่วนกลุ่มสถาบันต่างประเทศเชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด  รองลงมา คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน  การไหลเข้า-ออกของเงินทุน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ  และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดในการลงทุนนั้น  กลุ่มรายย่อยมองว่าเป็นหมวดการแพทย์น่าสนใจมากที่สุด  ตามด้วยหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง  ท่องเที่ยวและสันทนาการ  ส่วนกลุ่มสถาบันในประเทศมองว่าหมวดรับเหมาก่อสร้างน่าสนใจ  รองลงมาคือธนาคาร ท่องเที่ยว เป็นต้น  ส่วนสถาบันต่างประเทศให้น้ำหนักกับหมวดธนาคารและบริการรับเหมาก่อสร้าง  ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจในการลงทุน  กลุ่มรายบุคคลมองว่าหมวดเหล็กไม่น่าสนใจ รองลงมาคือหมวดแฟชั่น  ด้านกลุ่มสถาบันในประเทศเชื่อว่าหมวดเหล็กไม่น่าสนใจ  รองลงมา คือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ  ขณะที่สถาบันต่างประเทศมองว่ากลุ่มเกษตร  แฟชั่น  ประกันภัย  และประกันชีวิต เป็นต้นที่ไม่น่าสนใจ