อาหารทะเลเมียนมารุ่ง มาเลย์จับมือยุ่น-บรูไน-บ.ท้องถิ่นแปรรูปกุ้งหอยปูปลา

12 เม.ย. 2559 | 08:00 น.
บริษัท เท็กเคม ฟู้ดส์ฯ ในเครือบริษัทยักษ์ทางด้านอาหารทะเลของมาเลเซีย ได้ร่วมกับบริษัท อี-สปริ้นท์ฯ จากบรูไนและมาสคอตอินดัสตรี้ของเมียนมา ตั้งบริษัท เท็กเคมมารีนลาบุตตาฯ ขึ้นในประเทศเมียนมาโดยในช่วงแรกทำธุรกิจแปรรูปและส่งออกสินค้าอาหารทะเลอาทิปูนิ่ม กุ้งและหอยมือเสือสำหรับเมนูซุปฮามากูริในญี่ปุ่น

หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์รายงานว่าบริษัท เทคเคมฟูดส์ฯ เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เท็กเคมรีสอร์สเซสฯ (Texchem Resources) ในมาเลเซีย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ร่วมทุนกับ บริษัท Kokubu Group Corp ยักษ์ใหญ่ค้าส่งและขนส่งอาหารทะเลของญี่ปุ่นตั้งบริษัท Kokubu Food Logistics Malaysia เพี่อทำธุรกิจทางด้านการขนส่งจัดซื้อและคลังสินค้าสำหรับสินค้าอาหารในมาเลเซีย

เดอะสตาร์ระบุว่าเท็กเคมมารีนลาบุตตา จะพัฒนาขึ้นมาเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลแห้งจากทะเลของเมียนมา ซึ่งจะมีสินค้าครอบคลุมอาหารทะเลหลายชนิดทั้งกุ้ง ปูนิ่ม ปูจั๊กจั่น ปลาและปลาหมึก

บริษัท เท็กเคมรีสอร์สเซสฯ แจ้งต่อตลาดหุ้นในมาเลเซีย ว่าทุนจดทะเบียนของบริษัท เท็กเคมมารีนลาบุตตาฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านจ๊าต ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะหารือกันในเรื่องการจ่ายเงินทุนซึ่งอาจจะทยอยเป็นงวด ตามสัดส่วนทุนจดทะเบียน โดยบริษัทจากมาเลเซียจะถือหุ้น 65% บริษัทจากบรูไนจะถือหุ้น 30% ส่วนบริษัทเมียนมาจะถือหุ้น 5% โดยบริษัทแม่ในมาเลย์จะทดลองจ่ายค่าหุ้นเป็นเงินสดไปก่อน

นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอาหารทะเลระบุว่า การรุกทำธุรกิจแปรรูปและจัดจำหน่ายอาหารทะเลในเมียนมาของมาเลเซียจะทำให้บริษัทอาหารทะเลของมาเลย์ มีแหล่งป้อนวัตถุดิบอาหารทะเลที่มั่นคงมากขึ้นเนื่องจาก เมียนมามีแหล่งสัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและทะเลที่อุดมสมบูรณ์มาก

เว็บไซต์ SeafoodSource.com รายงานว่าในปี 2556 เมียนมามีการแปรรูปอาหารสัตว์น้ำ รวม 4.7 ล้านตัน แบ่งเป็นอาหารจากแหล่งน้ำจืด 47% และทะเล 53% โดยส่งออกเพียง 8% ของผลผลิตรวมหรือประมาณ 377,000 ตัน ตลาดส่งออกมีอาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์และจีน โดยมีบางส่วนส่งไปฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เวียดนาม อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และออสเตรเลีย

ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอาหารทะเลในเมียนมาระบุว่า สัตว์น้ำในเมียนมาทั้งในทะเลและแม่น้ำแม้จะยังมีความอุดมสมบูรณ์แต่ผลผลิตอาหารทะเลของเมียนมายังมีไม่มากเนื่องจาก ชาวประมงและผู้เลี้ยงสัตว์น้ำยังขาดความรู้ เงินทุนและยังเกิดโรคระบาดในบ่อเลี้ยง และภัยธรรมชาติ อาทิ พายุไซโคลน ทำให้ผลผลิตทางด้านการประมงเมียนมามีแนวโน้มลดลง

Photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559