สมคิดสั่งตรึงจีดีพี3% จี้ขุนคลังหามาตรการพยุง/นักศศ.คาดอัดยาแรงเพิ่ม

04 เม.ย. 2559 | 05:00 น.
“สมคิด” กำชับขุนคลัง หาทางประคองเศรษฐกิจไทย อย่าหลุด 3% พร้อมเตรียมเม็ดเงินช่วยกลุ่มที่อาจเกิดปัญหา “วิรไท” ชี้ส่งออกหดสูง-แนวโน้มฟื้นตัวช้า มั่นใจไม่เกิดฟองสบู่ในกลุ่มอุตฯที่เติบโตสูง ขณะที่สศค. ลั่นเป้าเศรษฐกิจไม่หลุด 3% แน่ เตรียมงัด 7 ปัจจัยผันผวน ทบทวนจีดีพีเม.ย.นี้ หวังเม็ดเงินนักท่องเที่ยวทั้งปีทะลุ1.7 ล้านล้านบาท ส.อ.ท.ลุ้นส่งออก Q2 หลังคาด Q1 หด 5.9%

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศก็ดี ต่างทะยอยปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2559 ใหม่โดยคาดว่าจะขยายตัวเระดับ 3.0—3.1 % ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ ) ,ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (เอดีบี ) จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและเอเชียที่ชะลอลงกว่าที่คาด ( อ่านประกอบหน้า 14 : ธปท.หั่นจีดีพีปี 59 เหลือ 3.1% ) จนทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า ภาครัฐเองอาจต้องใช้"ยาแรง " ควบคู่กับการผ่อนปรนนโยบายการเงิน โดยการลดดอกเบี้ย เพราะทั้งโครงการรัฐ –มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ –ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกก็อาจเอาไม่อยู่ ทำให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลืออาจขาดแรงส่ง

 สมคิด" กำชับคลังพยุงศก.โต3 %

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยประเด็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่หลายค่ายคาดกันว่าจะขยายตัวในระดับ 3 % โดยระบุว่า จากการหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตนได้กำชับให้ประคับประคองเศรษฐกิจให้โตในระดับ 3% ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้และได้เตรียมวงเงินไว้ช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจจะเกิดปัญหาแล้ว
ต่อนี้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากการประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีแล้ว สศค.เชื่อว่ายังขยายตัวได้เกิน 3% อย่างไรก็ดีการที่ 3 หน่วยงาน ( ธปท. ,คลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช. ) ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศมีความน่าเชื่อถือ มองว่ายังมีโอกาสที่จะขยายตัวเกิน 3% ส่วนตัวถือว่าเป็นการสะท้อนภาพเชิงบวก แม้จะถูกมองว่าโอกาสขยายตัวได้เพียง 3.1-3.3% ก็ตาม

 คลังหนุนออกมาตรการช่วยต่อเนื่อง

"ผมคิดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยยังโตได้ไม่ต่ำกว่า 3%เทียบกับปี 2558ที่ขยายตัวเพียง 2.8% แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้น คือ การออกมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นออกมาเป็นระลอกเพื่อช่วยคนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจรวมถึงภัยธรรมชาติ โดยทั้งมาตรการการเงินและการคลังต้องร่วมกันพยุงเศรษฐกิจให้ก้าวไปถึงห้วงเวลาที่มีเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากภาครัฐและเอกชนเข้ามาหมุนเข้าสู่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ในส่วนของปัจจัยหลักที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว กระทรวงการคลังให้น้ำหนัก 2 เรื่อง คือ 1.เม็ดเงินลงทุนภาครัฐที่ออกมา ทำให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ เพราะหากตามแผนกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมถึงผลจากใช้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณแผ่นดิน กรณีที่หน่วยงานไม่สามารถทำสัญญาหรือทำงบผูกพันได้ทันจะต้องนำส่งเงินคืน ถือเป็นตัวกระตุ้นช่วยทำให้การเบิกจ่ายเป็นไปได้ตามแผน และ 2.รายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ดังนั้นเร็วๆนี้ คลังจะมีการประเมินจีดีพีรอบใหม่และนำ 2 ปัจจัยหลักนี้มาประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในไตรมาส 2

ในส่วนของการขยายตัวของภาสส่งออก อาจต้องมีการทบทวน เนื่องจากเดิม สศค.มองว่าส่งออกปีนี้ขยายตัวที่ 0.2% แต่ปัจจุบันตัวสมติฐานเปลี่ยนไป ทั้งนี้ สศค.ประเมินส่งออกจากเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวคือหากส่งออกและเศรษฐกิจเพื่อนบ้านไม่ดี ของไทยก็คงจะไม่ดีเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี สศค. ประเมินส่งออก โดยให้น้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลง

 คลังประเมิน 7 ปัจจัยก่อนทบทวน

" สศค. จะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในเดือนเมษายน จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้3.7% เบื้องต้นจะนำปัจจัย 7 ด้านมาประเมินผลต่อจีดีพี คือ 1. การส่งออกไปยัง 15 ประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนที่ลดการเติบโตของเศรษฐกิจ, 2.แนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ปรับลดลงมาใกล้เคียง 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล,3.อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าจาก 37 บาทมาเป็น 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ, 4.แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยึนอัตราที่ 1.50%ไปถึงสิ้นไตรมาสที่ 3ปีนี้, 5.ดัชนีราคาสินค้านำเข้าและส่งออก ที่มองว่าทรงตัว, 6.แนวโน้มนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มเป็น 5 พันบาทต่อหัวต่อวัน สูงกว่านักท่องเที่ยวยุโรปที่ใช้เพียง 4.5 พันบาทต่อหัวต่อวัน, 7.ยอดการใช้จ่ายต่อหัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปีนี้มีโอกาสเพิ่มแตะ 33.8 ล้านคน ทำรายได้สูงขึ้นถึง 1.7 ล้านล้านบาท สูงกว่าที่ สศค. เคยประเมินไว้ที่ 33 ล้านคน และมีรายได้เข้าประเทศที่ 1.6 ล้านล้านบาท

 ธปท.มองส่งออก-ลงทุนเอกชนซบ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวในงาน SET 100 ผนึกกำลังประชารัฐ โดยปาฐกถาในหัวข้อ สถานการณ์เศรษฐกิจไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 3.1% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงอ่อนแรงและหดตัวสูง มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลัก ประกอบกับไทยยังมีปัญหาเรื่อง การสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันภาคเอกชนมีความ ระมัดระวังที่จะลงทุนเพิ่ม ทำให้การลงทุนเอกชนอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้น และในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง ตนยืนยันว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนและไม่มีอะไรน่าห่วง เนื่องจากภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่ง สถาบันการเงินมีความมั่นคง แต่ทั้งนี้จะต้องระมัดระวังในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายทำประกันความเสี่ยงเพื่อรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 ส่งออกรอลุ้น Q 2/2559

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวถึงภาพรวมส่งออกของไทยไตรมาสที่ 1/2559 คาดจะติดลบ 5.86% เป็นผลมาตลาดส่งออกยังประเทศคู่ค้าสำคัญยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ส่วนไตรมาส 2 ยังไม่มั่นใจว่าจะดีขึ้น เพราะหากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากประเทศคู่ค้าหลักยังมีอยู่มากโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว การนำเข้าวัตถุดิบของจีนเพื่อผลิตส่งออกก็ยังมีความผันผวน ขณะที่ยุโรปยังมีความเสี่ยงจากภัยการก่อการร้าย จะกระทบต่อเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว การบริโภคภายใน ส่วนญี่ปุ่นแม้จะมีการออกมาตรการคิวอี และลดดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก

 สรท.คาดทั้งปีโต2%-พณ.คง 5%

"แนวโน้มการส่งออกในครึ่งหลัง พิจารณาจากปัจจัยบวกแทบไม่มี แต่ก็ยังคาดหวังว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งแรก โดยหลายฝ่ายมองทิศทางราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันราคาจะสูงขึ้น อย่างไรก็ดีส่งออกของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันไม่ถือว่าเลวร้าย ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดสำคัญและยังติด 5 อันดับของประเทศที่การส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปี ติดลบน้อยสุด โดยสรท.คาดส่งออกทั้งปี 2559 จะขยายตัว 0 ถึง2 %

ขณะที่นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก เพราะทางกระทรวงจะนำตัวเลขการส่งออกภาคบริการมารวมในมูลค่าการส่งออกด้วย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเน้นการจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออกผ่านงานแสดงสินค้าในประเทศ ซึ่งงานจะจัดช่วงไตรมาส 2 เช่น งานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ หรือ TAPA 2016 (7-10 เม.ย.) งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน หรืองานBIG+BIH ครั้งที่ 14(ระหว่าง 19-23 เม.ย.) โดยเป้าหมายส่งออกทั้งปีของกระทรวงพาณิชย์ยังคงไว้ที่ 5%

 ปตท.ชี้รัฐมาถูกทาง"ดึงศก.ฐานราก"

ด้านนายเทวินทร์ วงษ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (บมจ.)กล่าวว่า มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเวลานี้ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกพอสมควร ไม่ว่าจีน รัสเซีย สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าในตลาดส่งออกของไทย เมื่อ เศรษฐกิจโลกชะลอ ไทยก็กระทบ

แต่สำคัญว่าวันนี้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลมาได้ถูกทางแล้ว โดยใช้จังหวะนี้ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ แทนที่จะไปมุ่งการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยต้องทำคู่ขนานไปกันทั้งหมด ด้วยการสร้างฐานรากให้เติบโตขึ้นเพื่อดึงจีดีพีประเทศ ไม่ใช่สร้างจีดีพีให้โตจากฐานข้างบนเพียงอย่างเดียว เหมือนกับอดีตที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากฐานข้างบน ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ยิ่งถ่างออกเรื่อยๆ

"การที่รัฐอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากการเติบโตในอดีตแล้วมากมาย มาช่วยดึงเศรษฐกิจฐานราก ผมถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว แก้ปัญหาถูกจุด และอย่าไปใจร้อนกับตัวเลขส่งออก เพราะเวลานี้เราจะไปสวนกระแสโลกก็ลำบาก แต่ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานราก มีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเดินต่อไปได้"

 สัญญาณลงทุนเอกชนไม่ชัด

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ยังมีความเป็นไปที่เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวที่ 2.8% ตามที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ ขณะเดียวกันปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวกดดันให้จีดีพีต่ำกว่า 2.8% จะมา 2 เครื่องยนต์หลัก คือ 1.การลงทุนภาคเอกชน ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของจีดีพี หากยังไม่สามารถขยายตัวได้ระดับ 3% เทียบจากปีก่อนที่ติดลบ2% และสอดคล้องกับธปท.ที่คาดว่าภาคการลงทุนจะขยายตัวที่ 2-3% หากทำไม่ได้จะส่งผลให้จีดีพีไทยหลุดกรอบ เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐมีสัดส่วน 6% ของจีดีพี สามารถเดินหน้าต่อเนื่อง เหลือก็แต่การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคมีผลต่อเศรษฐกิจเพียง 1-2% เท่านั้น

ส่วนเครื่องยนต์ที่ 2.การท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วน 15% ของจีดีพี หากสามารถขยายตัวต่อเนื่องจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยปีนี้ในแง่รายได้การท่องเที่ยวจะต้องมีอัตราเติบโตที่ 7% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องโตไม่น้อยกว่า 20-30% อย่างไรก็ดี เครื่องยนต์การท่องเที่ยวไม่น่าจะมีปัญหา

" ที่ต้องจับตาคือการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งสัญญาณยังอยู่กล้ำกึ่ง เนื่องจากกำลังการผลิตยังคงเหลือ แต่มีสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร โดยที่ความเชื่อมั่นผู้ผลิตในระยะ 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับใกล้ 100% ถือว่ายังไม่ดีนัก "

สำหรับภาคการส่งออก แม้ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์จะขยายตัวสุทธิ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ติดลบ 8.9% ซึ่งดีขึ้นแต่เชื่อว่าคงไม่ปรับตัวดีขึ้นในทันทีทันใด เพราะเทียบส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่ฟื้นตัว และการนำเข้ายังคงติดลบ โดยจีนติดลบ 25% เกาหลีติดลบ 12% และสิงคโปร์ติดลบ 6% มีเพียงไทยและเวียดนามที่ขยายตัวเป็นบวก ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงเป้าตัวเลขส่งออกปีนี้ว่าจะติดลบที่ 4.5%

"ภาคส่งออกถือว่าตายซากหรือเป็นซอมบี้ไปแล้ว ไม่น่าจะดีขึ้นเร็วนัก ส่วนภัยแล้งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงแต่เป็นเรื่องเก่าที่ประเมินไว้แล้ว"

 นโยบายการคลังอาจต้องใช้ยาแรง

อย่างไรก็ดี หากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดหวัง มองว่า นโยบายการคลังอาจต้องเป็นยาแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยการกู้เงินลงทุนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีเพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่นโยบายการเงิน แม้จะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่เชื่อว่าไม่มีผล เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบยังเหลือค่อนข้างมาก ดังนั้น นโยบายการเงินโดยการลดดอกเบี้ยจึงไม่มีผล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559