เคาะ24มิ.ย.ประมูล4จีรอบใหม่ เอไอเอส-ทรูยํ้าชัดรอดูกติกา

05 เม.ย. 2559 | 04:00 น.
บอร์ด กทค. เคาะวันประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ดีเดย์ 24 มิ.ย. 59 เริ่มต้นราคา 75,654 ล้านบาท พร้อมเพิ่มวงเงินหลักประกันเป็น 3,783 ล้านบาท ขณะที่ 2 ค่ายมือถือเรียกร้องบนเวทีสัมมนาสร้างความเป็นธรรมให้เกิดการแข่งขันเสรี ขณะที่ค่ายเบอร์ 1 "เอไอเอส" เรียกร้องให้รัฐเริ่มต้นราคาประมูลใหม่ ไม่อยากให้ยึดตึดราคาเดิม ด้าน "ทรู" เผยถ้าประมูลใหม่ราคาต่ำกว่าต้องปรับลดราคาเช่นเดียวกัน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เมื่อวันที่ 31 มีนาคมได้อนุมัติกรอบเวลาในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้ วันที่ 5-28 เมษายน 2559 เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 895-905 MHz/940-950 เมกะเฮิรตซ์ (หรือ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์)

โดยวันที่ 22 เมษายน 2559 จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าว ถัดมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ร่างประกาศจะถูกส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นวันที่ 13 พฤษภาคม-12 มิถุนายน 2559 ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูล ต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2559 ยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูล และวันที่ 24 มิถุนายน 2559 คือ วันประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กทค. ยังได้อนุมัติร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ร่างประกาศฉบับนี้ตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่มาชำระเงินค่าประมูลจากการประมูลครั้งที่แล้ว และราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 75,654 ล้านบาท ซึ่งราคาเริ่มต้นนี้เป็นราคาที่ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วเสนอ เนื่องจากสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นหลัก ส่วนการวางเงินหลักประกันคิดเป็น 5% ของราคาเริ่มต้นการประมูล 75,654 ล้านบาท ซึ่งจะเท่ากับ 3,783 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่แล้ว

อย่างไรก็ตามงวดการจ่ายเงินค่าประมูล แบ่งออกเป็น 4 งวด ตามหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่แล้ว คือ งวดแรก 8,040 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ งวดที่ 2 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ งวดที่ 3 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีส่วนที่เหลือ และงวดสุดท้ายจ่ายที่เหลือทั้งหมด

นายฐากร ยังกล่าวต่ออีกว่า กรณีความรับผิด หากผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระเงิน นอกจากจะยึดหลักประกัน 3,783 ล้านบาทแล้ว สำนักงาน กสทช. จะเรียกค่ารับผิดเพิ่มอีก 11,348 ล้านบาท รวมเป็น 15,131 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของราคาตั้งต้นการประมูล นอกจากนี้หากมีความเสียหายเพิ่มเติมมากกว่านี้ สำนักงาน กสทช. จะมีการเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในส่วนนี้อีก สำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูลฉบับนี้ เป็นร่างที่ใช้เฉพาะการประมูลในครั้งนี้เท่านั้น จึงเสนอเงื่อนไขกรณีมีผู้ประมูลรายเดียว แต่มีการเคาะยืนยันราคา 75,654 ล้านบาท ก็ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะการประมูล

นอกจากนี้การประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลในลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 หากผู้ชนะการประมูลรายที่ 1 ไม่มาชำระเงินค่าประมูล สำนักงาน กสทช. จะเรียกผู้ชนะการประมูลลำดับที่ 2 มาชำระเงินประมูล และเป็นผู้ชนะแทนได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และกรณีที่มีผู้เสนอราคาเท่ากัน 2 ราย สำนักงาน กสทช. อาจมีการประกาศเพิ่มเติมให้มีการดำเนินการยื่นซองราคา เพื่อแข่งขันราคาเลยก็ได้

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้เสนอแนวความคิดเห็นเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ บนเวทีสัมมนา "4Gมาใครได้ประโยชน์?" ที่ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ทุกคนมีโอกาสแสวงหาคลื่นความถี่ใหม่ๆ เอไอเอสมีความสนใจอยู่ตลอดเวลาเรื่องโมบายดาต้าเพราะในอนาคตคลื่นความถี่มีความจำเป็น แต่ เอไอเอส ต้องรอกฎกติกาทั้งหมดที่เป็นทางการ หลังจากนั้นก็จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาบอร์ดของบริษัทเพราะว่า เอไอเอส ต้องดูสภาพแวดล้อมการแข่งขัน ณ วันนั้นเป็นอย่างไรบ้างรวมถึงผลตอบแทนกลับมา การลงทุน ทั้งหลายทั้งสิ้นอยู่ที่กติกาที่ชัดเจนเป็นทางการบวกกับต้องนำเสนอบอร์ดพิจารณาในรายละเอียด

อย่างไรก็ตาม กสทช. เพราะที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้อย่างดีมาก แต่ กสช.เป็นหน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ 3 อย่าง คือ 1.หาทรัพยากรธรรมชาติของรัฐให้มีประโยชน์สูงสุด, 2.ดูแลประชาชน คือ ผู้บริโภค และอันที่ 3. ที่สำคัญมาก กสทช.กำกับดูแลผู้ประกอบการทั้งหลายเท่าเทียมและเป็นธรรม การประมูลคลื่น 1800 ไม่มีปัญหาการจ่ายค่าใบอนุญาต

"แต่พอมีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์เข้ามาเป็นการประมูลที่อะเมซิ่งมากคนไม่คิด ราคาประมูลจะโอเวอร์ขนาดนั้น ต้องขอบคุณ ทรู ที่มีพันธกิจ กสทช. ทำหน้าที่ดีมากข้อแรก คือ การหาเงินเข้ารัฐรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ทันทีที่ประกวดราคาเสร็จสิ้นจะเห็นเลขตลาดโทรคมนาคมในตลาดหุ้นตกหมดทุกทั้งได้คลื่นและไม่ได้คลื่น ณ วันนั้นมาร์เก็ตแคปหายไป 2-3 แสนล้านบาท"

นายสมชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่นำเสนอไปให้กับ กสทช.นั้นอยากให้ความคิดนี้ในที่ประชุมของ กทค.ไม่ใช้ตัวเลขประมูลคลื่นถี่ในราคา 7.3 หรือ 7.5 หมื่นล้านบาท แต่แน่นอน กสทช. มีเหตุผลต้องกำกับดูแลแข่งขันให้เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งให้ความเป็นธรรมกับ ทรู เพราะได้ส่งเงินไปแล้ว 7.6 หมื่นล้านบาทเป็นภาระผูกพันเป็นภาระ เชื่อว่ากติกาต่างๆ ที่ กสทช.ออกมาคงต้องดูตรงนี้ หากมีผู้เสนอราคาต่ำกว่า ทรู ต้องปรับลดราคาให้กับ ทรู เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ กสทช.ต้องปรับโหมดถ้าหากเห็นว่าวิธีที่เดินอยู่หรือเดินไปเป็นอุปสรรคเป็นข้อผิดลาด ลองมีอะไรไหม มีกฎหมายอะไรต่างๆ สามารถนำไปประมูลเอาใหม่เป็นราคายอมรับได้ในสากล มีการทำราคาออกมา ถ้าราคาแตกต่างจาก ทรู ในขณะนั้น ควรมีมาตรการทางกฎหมายถูกต้อง และ กสทช.ไม่ผิดลดราคาของ ทรู ลงมาให้เท่ากับตรงนี้

"นี้คือสิ่งที่ผมนำเสนอออกไปสู่สาธารณชน ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานใช้อำนาจหน้าที่ได้เป็นประโยชน์อุตสาหกรรมโดยรวมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโอเปอเรเตอร์ต่างๆ ไม่เช่นนั้นมาตรฐานราคา (Benchmark) อ้างอิงผิดไป ในอนาคตประมูลคลื่น 2300 หรือ 2600 เมกะเฮิรตซ์ มีราคามาตรฐานอ้างอิงผมไม่พูดถูกหรือแพง แต่เมื่อมีราคามาตรฐานอ้างอิงขึ้นมาตรงนี้เป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศอีกมากมายแต่ก็เข้าใจข้อจำกัดของ กสทช. ในเรื่องข้อกฎหมาย แต่อยากฝากผู้มีอำนาจในภาครัฐ เพราะเราได้เห็นผู้ร่วมประมูลแล้ว ที่ผ่านมาเราทำคุณประโยชน์อันหนึ่ง แต่ภายใต้คุณประโยชน์ลองผิดลองถูกเรียนรู้อาจมีจุดไม่ถูกต้อง อยากให้กลับมาแก้ดีกว่าเดินโดยมาตรฐานราคาไม่ถูกต้อง"

ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทในเครือ คือ ทรูมูฟ เอช ชนะประมูลคลื่น 900 ในชุดที่ 2 กล่าวบนเวทีสัมมนาเดียวกันว่า กรณีที่เปิดประมูลคลื่น 900 ใหม่ บริษัทมีจุดยืนได้ชี้แจงไปแล้วว่า การแข่งขันต้องอยู่บนพื้นฐานความทัดเทียมเสมอภาค และเป็นธรรม เนื่องจากมีการตั้งต้นราคาเดิมของผู้ชนะประมูลครั้งที่แล้วเมื่อบริษัทรับทราบและยอมรับในแนวทางดังกล่าวจึงได้วางแบงก์การันตีและเงินงวดแรก แต่ถ้าไม่มีผู้มาประมูลคลื่นความถี่ 900 ต้องเก็บคลื่นความถี่ไว้ 1 ปี และไม่ว่าจะกลับมาเปิดประมูลใหม่ กสทช. ต้องเริ่มราคาชนะประมูลในครั้งที่แล้วซึ่งใกล้เคียงราคาประมูลของ ทรู นั้นเป็นหลักการ บริษัทจึงยอมรับและได้วางเงินชำระค่าคลื่นงวดแรกพร้อมแบงก์การันตี

กรณีถ้ามีการปรับลดราคาและในที่สุดผลการประมูลต่ำกว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่บริษัทต้องขอความเป็นธรรมอันนี้เป็นจุดยืนของบริษัทขอความเป็นธรรมถ้าในที่สุดผู้ที่ประกอบการแข่งขันโดยตรงมีโอกาสประมูลครั้งที่ 2 ในที่สุดแล้วมีผู้ชนะราคาที่ต่ำขอพิจารณาปรับราคาให้บริษัทด้วย เป็นสิ่ง ที่บริษัทแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการไปแล้ว ในแง่บริษัทมั่นใจกระบวนการของ กสทช.และภาครัฐให้ความเป็นธรรม บริษัทฯเดินหน้าลงทุน 4 จีเต็มที่

อย่างไรก็ตามล่าสุดนายศุภชัย ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลของ กสทช.ไม่ผิดความคาดหมายที่ ทรู คาดการณ์ไว้ แต่ ทรู จะเข้าร่วมการประมูลหรือไม่ต้องใช้เวลาการศึกษาประมาณ 2 เดือนก่อนหารือย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมการบริษัทอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เป็นคลื่นที่มีคุณภาพดี และมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นคลื่นความถี่ 5G ได้ ดังนั้นต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบก่อน แต่อย่างไรก็ตามหากศึกษาแล้วและตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลรอบใหม่นั้น ก็ยังยืนยันว่าทรูมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอที่พร้อมในการแข่งขัน และ ให้บริการอย่างน้อย 3 ปี

ส่วนทางด้าน พ.อ.ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค. กล่าวบนเวทีสัมมนาเช่นเดียวกันว่าเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย กสทช.ทำตามหน้าที่กรอบกฎหมายทุกประการ แต่ตอนนี้อำนาจ กสทช.ต้องทำอำนาจของ กสทช.ให้ดีเสียก่อน ส่วนอำนาจอื่นๆ จะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ไม่ใช่อำนาจของ กสทช. เข้าใจอยู่เต็มอก แต่การที่ กสทช.ทำอะไรนอกเหนืออำนาจ ไปทำอะไรที่มันเหมือนทำลาย เสาก็ล้มลงมาอยู่ดี ถึงแม้จะทำและดูดี แต่ในทางกฎหมาย คือ ทำไม่ได้ก็ คือทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบทเรียนอันนี้ไม่จบแค่นี้ แต่ประเด็นตอนนี้จะเดินหน้าอย่างไรมากกว่าเพราะ กสทช. ทำหน้าที่เต็มเพดาน

นอกจากนี้ในวันที่ 5 เมษายน สำนักงาน กสทช.ได้นัดหมาย บริษัท จัสมิน โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด มาหาหรือผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ชุดที่ 1 ซึ่งแจส เสนอราคาสุดท้ายที่ 75,654 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559