คาดการเมืองเชิงบวกดันเศรษฐกิจเมียนมาโต 8.4%

05 เม.ย. 2559 | 11:00 น.
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเมียนมาในปี 2559 (Myanmar's Economic Outlook 2016) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งซึ่งมีพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน ซูจี เป็นแกนนำ เป็นที่คาดหมายว่า เศรษฐกิจเมียนมาในรอบปีงบประมาณ 2016-2017 น่าจะมีอัตราการขยายตัว 8.4% หรือเพิ่มขึ้น 1.2% จากอัตราเติบโตของปีงบประมาณ 2015-2016 (ซึ่งมีการขยายตัวในอัตรา 7.2%)

รายงานของเอดีบีระบุว่า พัฒนาการด้านการเมืองที่เป็นไปในทิศทางบวก และโครงการต่างๆ เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศเมียนมา ส่วนในแง่อัตราเงินเฟ้อนั้น คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 9.5% แต่คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่อัตรา 8.5% ในปีงบประมาณหน้า (2017-2018)

นายวินฟรีด วิคไลน์ ผู้อำนวยการเอดีบี ประจำประเทศเมียนมา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า รัฐบาลใหม่ของเมียนมาซึ่งเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งรวมถึงการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการสร้างความคืบหน้าเกี่ยวกับสันติภาพและความปรองดองภายในประเทศ นอกจากนี้ เอดีบียังมองว่า เมียนมาจะต้องเพิ่มความพยายามมากยิ่งขึ้นในการที่จะพัฒนาและเชื่อมโยงพื้นที่ชนบทห่างไกลเข้าสู่กระบวนการสร้างความเจริญ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทมีช่องทางเข้าสู่ตลาดและบริการต่างๆ อีกทั้งเพื่อสร้างโอกาสและสร้างงาน

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รายงานระบุว่า อาจจะขยับสูงขึ้นจากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองที่ราบรื่น โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าเม็ดเงิน FDI จะไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมในภาคการขนส่ง การโทรคมนาคม และพลังงาน เป็นพิเศษ

ส่วนความเสี่ยงหรือสิ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมียนมา คือ การที่เมียนมายังมีกลไกรองรับหรือซึมซับแรงกระทบจากปัจจัยภายนอกน้อยมาก รวมทั้งยังมีสถานะทางการคลังที่ยังไม่แข็งแรง ความสามารถของรัฐบาลใหม่ในการรักษาพลวัตขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปยังเป็นที่สงสัย นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ยังได้แก่ ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างชนกลุ่มน้อยและระหว่างเชื้อชาติศาสนา ตลอดจนภัยจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี

"โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งคมนาคมที่ยังขาดแคลนทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการเข้าถึงตลาดและบริการด้านต่างๆ อีกทั้งยังซ้ำเติมปัญหาความยากจนและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมของพื้นที่ต่างๆ ภายในประเทศ

เอดีบีประมาณการว่า เมียนมาจำเป็นต้องใช้เงินอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.16 ล้านล้านบาท สำหรับการพัฒนาและยกระดับระบบการขนส่ง-คมนาคมภายในประเทศสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559