จีอีผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ผลิต 1 พันเมกะวัตต์ในมาเลเซีย

07 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
มาเลเซียเดินเครื่องโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่กำลังผลิต 1 พันเมกะวัตต์แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้เทคโนโลยีอัลตรา-ซูเปอร์คริติคัลของบริษัท จีอีฯ จากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มธุรกิจพันธมิตร

เมื่อเร็วๆ นี้ (29 มี.ค.) บริษัท จีอีฯ จากสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศถึงความสำเร็จของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตันยุง บิน อิเนอร์จี (ทีโฟร์) (Tanjung Bin Energy หรือ T4) ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ของบริษัท มาลาคอฟ คอร์ปอเรชั่น เบอร์ฮาดฯ (Malakoff Corporation Berhad) มูลค่าการลงทุน 1 พันล้านยูโร โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 และขณะนี้ก็เสร็จสมบูรณ์ สามารถเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ตามแผนการที่วางไว้ ข่าวระบุว่า โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบท้องถิ่นสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเกือบ 2 ล้านคน

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทีโฟร์ เป็นร่วมมือของแผนกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีอี (Steam Power Systems) กับกลุ่มพันธมิตรคือบริษัท มูดาจายา และบริษัท ชิน เอเวอร์เซนได ในมาเลเซีย สัญญาการก่อสร้างครอบคลุมงานออกแบบ งานวิศวกรรม การจัดหาอุปกรณ์ และการควบคุมการก่อสร้าง โดยฝ่ายจีอีเป็นผู้นำของกลุ่มผู้รับเหมาร่วม รับผิดชอบด้านวิศวกรรม การจัดหาอุปกรณ์หลัก และผสานการทำงานทุกส่วนเข้าด้วยกัน รวมทั้งการติดตั้งและทดสอบระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าด้วย บริษัทระบุว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ใช้กังหันไอน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดของจีอี รวมทั้งหม้อไอน้ำแรงดันสูงที่เรียกว่า อัลตรา-ซูเปอร์คริติคัล (ultra-supercritical) และระบบกำจัดมลภาวะที่จีอีออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ

นายฮาบิบ ฮูซิน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มาลาคอฟ คอร์ปอเรชั่น เบอร์ฮาดฯ เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงของจีอีที่โรงไฟฟ้า T4 ช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ" ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากการปล่อยก๊าซพิษของโรงไฟฟ้า T4 ลดลงอย่างมากจากการใช้เตาเผาไหม้ถ่านหินแบบที่ลดการเกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Low NOx burner) ใช้ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization: FGD) แบบใช้น้ำทะเลเป็นตัวทำปฏิกิริยาที่ทรงประสิทธิภาพ และใช้อุปกรณ์ดักเก็บฝุ่นละอองด้วยผ้ากรอง ระบบทั้งหมดที่ติดตั้งนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์ออกไซด์ และฝุ่นละออง

ด้านนายแอนเดรียส ลูซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีอี กล่าวเสริมว่า แผนกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีอี เป็นผู้บุกเบิกระบบการผลิตไอน้ำด้วยเทคโนโลยีอัลตรา-ซูเปอร์คริติคัล ปัจจุบันจีอีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าของระบบนี้ โดยสามารถออกแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินให้มีประสิทธิภาพได้สูงถึง 47% ซึ่งมากกว่าประสิทธิภาพเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วไปซึ่งทำประสิทธิภาพได้ประมาณ 30% ทั้งนี้ แต่ละเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2-3% "โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในความมุ่งมั่นของจีอีที่จะพัฒนาให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงอย่างผสมผสานและหลากหลายในภูมิภาคนี้ โรงไฟฟ้า T4 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงพอสำหรับประชากรถึง 2 ล้านคน" ผู้บริหารของจีอีกล่าวและว่า

แผนกโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีอี มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไอน้ำมามากกว่า 1 ศตวรรษ และติดตั้งระบบการผลิตมาแล้วกว่า 320 กิกะวัตต์ทั่วโลก ด้วยการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินทุกประเภทเพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนบริษัท มาลาคอฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน T4 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย มีโรงไฟฟ้า 6 แห่ง และมีกำลังการผลิตสุทธิรวม 6,346 เมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559