ลดทุนจดทะเบียนนาโนไฟแนนซ์ หน้าใหม่เหลือ 10 ล้านคลังเสนอธปท.กลางปี/ธุรกิจเสียงแตก

07 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
คลัง เล็งปรับเกณฑ์ลดทุนจดทะเบียน "นาโนไฟแนนซ์" รอบใหม่เหลือ 10 ล้านบาท เตรียมเสนอแบงก์ชาติก่อนกลางปีนี้ ด้านผู้ประกอบการเสียงแตก ห่วงเพิ่มมากรายยิ่งซ้ำเติมรายเดิม ทำภาระต้นทุนการตลาดพุ่ง ชี้ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน50 ล้านบาทยังไปไม่รอด ด้านเสียงหนุน เชื่อเป็นประโยชน์ผู้บริโภค แต่เสนอให้ทบทวนดอกเบี้ยกู้เกิน 36% ประเมิน 1 ปียังไม่ตอบโจทย์เข้าถึงรากหญ้า

[caption id="attachment_42701" align="aligncenter" width="700"] ผลประกอบการของนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบ ผลประกอบการของนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบ[/caption]

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการอนุมัติใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยหรือนาโนไฟแนนซ์ ว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2558- 29 กุมภาพันธ์ 2559 ได้อนุมัติรวม 29 ราย ในจำนวนนี้เปิดให้บริการแล้ว 12. ราย โดยมีการปล่อยกู้ไปแล้วจำนวน 1.2 หมื่นบัญชี วงเงินรวม 243 ล้านบาท คิดเป็นสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 193 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยพบว่าสัดส่วน 50% หรือราว 120 ล้านบาท เป็นการปล่อยกู้โดยบริษัทขนาดใหญ่เพียง 2 แห่ง

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาการปรับเกณฑ์การอนุมัติใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ คาดว่าจะปรับลดทุนจดทะเบียน จากปัจจุบันที่กำหนดต้องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เป็นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้เล่น (ผู้ประกอบการ)ในตลาดทำให้เกิดการแข่งขัน โดยคาดจะเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนกลางปีนี้

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการเรียกร้องให้ทบทวนปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันที่ 36% ต่อปี เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเหมาะสมดีอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบัน แม้เกณฑ์ในการปล่อยกู้ต่อรายกำหนดสูงสุดที่ 1 แสนบาท แต่ประเมินจากสถานการณ์จริง พบว่าค่าเฉลี่ยในการยื่นกู้และได้รับการอนุมัติสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนในเรื่องของหนี้เสีย เบื้องต้นแม้จะมีสัญญาณเพิ่มขึ้น จากภาวะของเศรษฐกิจรวมถึงปัญหาภัยแล้ง แต่อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

"เรื่องการพิจารณาปรับเกณฑ์ในส่วนของทุนจดทะเบียน หากปรับลดจริงจะไม่ส่งผลย้อนหลังไปถึงรายเก่าที่ได้รับอนุมัติไปก่อนหน้า"

ต่อเรื่องนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถามความคิดเห็นไปยังผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ โดยเฉพาะรายกลางและ รายเล็ก อาทิ บริษัทแมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) (เงินกู้สมใจ) ที่แตกไลน์จากธุรกิจดั้งเดิม เคมีอุตสาหกรรม ธุรกิจน้ำมันที่ใช้ด้านการเกษตร มาทำทางด้านการเงินโดยมีทุนจดทะเบียน 186.86 ล้านบาท

[caption id="attachment_42703" align="aligncenter" width="335"] สมชาย โฆศิริมงคล  กรรมการผู้จัดการใหญ่  เงินกู้สมใจ สมชาย โฆศิริมงคล
กรรมการผู้จัดการใหญ่
เงินกู้สมใจ[/caption]

นายสมชาย โฆศิริมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เงินกู้สมใจ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายในเรื่องนาโนไฟแนนซ์ ของภาครัฐถือว่าตอบโจทย์ในการช่วยให้รากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ แทนที่จะไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ อย่างไรก็ดี หากออกใบอนุญาตมากรายจนเกินไป ก็จะมีปัญหาตามมา เพราะทำให้ต้นทุนรายจ่ายในการทำตลาดยิ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะรายใหม่อย่างเราที่ฐานยังไม่แน่น เนื่องจากต้องแข่งขันกันมากขึ้น

"ดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ คิดกันอยู่ที่ 36% ต่อปี แต่เป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก คำนวณแล้วจริง ๆเรียกเก็บเหลือ 22% และเมื่อหักหนี้เสีย 10-12% หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าบริหาร, ค่าติดตามหนี้อีก 7-10% รวมแล้วเหลือมาร์จินน้อยมากหรือปริ่ม ๆ ซึ่งผมเชื่อว่ารายใหม่ที่ปล่อยนาโนไฟแนนซ์เวลานี้กว่า 90% มีปัญหาหมด คือหนี้เสียมาก บางรายจึงเลือกปล่อยกู้ให้เฉพาะรายเก่า แต่ของเรายืนยันได้ว่าทั้ง 100% เป็นลูกค้ารายใหม่" นายสมชาย กล่าว และว่า

หลายรายที่ได้รับใบอนุญาตแล้วซึ่งมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 50 ล้านบาท บางรายก็ยังไม่ดำเนินการ คอยดูท่าทีเพราะกลัวจะขาดทุน ดังนั้นถ้าปล่อยรายเล็กรายน้อยเข้ามา จะมีปัญหาแน่นอน หรือเข้ามาแล้วแต่ไม่ปล่อยกู้เลย ซึ่งปัจจุบันจำนวนรายที่อนุมัติไปแล้วร่วม 30 แห่ง ก็ถือว่ามากพอ

ทั้งนี้ผลดำเนินการของบริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในช่วงปลายปี 2558 ปัจจุบันมียอดสินเชื่อปล่อยเพียง 1 ล้านบาท จากลูกหนี้ที่ปล่อย 70 ราย วงเงินกู้เฉลี่ยรายละ 2 หมื่นบาท ระยะเวลาชำระหนี้ใน 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องรวมกลุ่มกันมากู้ (ค้ำระหว่างกัน) ให้ได้ 5 คน โดยไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร ลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา และคนงานในโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และต่างจังหวัดอาทิ ที่ร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี โดยแผนปีนี้ บริษัทจะเปิดสาขาเพิ่มเป็น 50 แห่งจากปัจจุบันที่มี 11 แห่ง

[caption id="attachment_42704" align="aligncenter" width="335"] คณิตเชษฐ์ วัยอัศวะ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด (บจก.) คณิตเชษฐ์ วัยอัศวะ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด (บจก.)[/caption]

ขณะที่นายคณิตเชษฐ์ วัยอัศวะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด (บจก.) กล่าวว่า ตลาดเงินกู้นอกระบบมีขนาดที่ใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อมองจากจำนวนผู้เล่นที่ทางการให้ใบอนุญาตเวลานี้ 30 ราย ก็ยังถือว่าไม่มาก เพียงแต่ว่าผู้เล่นรายไหนจะอยู่รอดได้ต่างหาก เพราะบริษัทใหม่ ๆเข้ามามีต้นทุนการดำเนินการ ต้องเซตอัพระบบ ขยายสาขา ถ้าเข้ามาทำแล้วไม่คุ้มเสีย ก็อาจไม่เกิด ปัจจุบันที่เห็นว่าเกิดจะเป็นบริษัทเดิม ๆที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วมากกว่าที่จะเปิดรับลูกค้ารายใหม่ๆ

"ทางการควรเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากราย แต่ควรพิจารณาปรับเพดานดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ 36% ให้สูงขึ้น เพราะถ้าเรามัวแต่กังวลว่าเพดานดอกเบี้ยจะสูงเกิน เมื่อเทียบกับนอกระบบที่คิดดอกเบี้ย 5% ต่อเดือนหรือ 10% ต่อเดือน นาโนไฟแนนซ์ที่คิดแบบลดต้นลดดอกเบี้ย ก็ยังถูกกว่า ดังนั้นการปรับเพดานดอกเบี้ยจะจูงใจให้เข้ามาอยู่ระบบและภาครัฐก็สามารถดูแลด้วยเครื่องมือต่าง ๆภายใต้การกำกับที่มีอยู่ สุดท้ายกลไกตลาด การแข่งขันที่มากขึ้น จะทำให้ได้ดอกเบี้ยปรับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภค"

สำหรับแผนธุรกิจของ บจก.ไทยเอช แคปปิตอล ปี 2559 จะขยายสาขาทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล - ต่างจังหวัดรวม 3-4 สาขา พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายสินเชื่อสุทธินาโนไฟแนนซ์ปีนี้ทรงตัว เทียบกับปี 2558 ที่มียอดปล่อยกู้กว่า 1 ล้านบาท เฉลี่ยต่อรายที่ 3 หมื่นบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลที่ 10% โดยลูกค้าเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ตึกแถวหรือศูนย์อาหาร

นายขจิต เสรีรัตน์ ผู้จัดการบจก.สหไพบูลย์ 2558 กล่าวว่าหลังจากเปิดให้บริการ สินเชื่อที่ปล่อยยังไม่ถึง 1 ล้านบาท โดยวงเงินต่อรายมีตั้งแต่ระดับ 2 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท และไม่จำกัดระยะเวลาชำระคืน ส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าเช่าซื้อเดิมในเครือของกลุ่ม หรือเป็นลูกค้าที่รีไฟแนนซ์จากเช่าซื้อมาเป็นนาโนไฟแนนซ์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากเป็นเงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำ และยังได้รับดอกเบี้ยสูงกว่า โดยสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ คิดดอกเบี้ย flat rate (คงที่) ที่ 2% ต่อปี หากคำนวณเป็น "ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก" จะสูงเกือบ 48% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่คิดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 36% ต่อปี

ปัจจุบันเรามี 4 สาขาคือ ขอนแก่น สารคาม ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด และล่าสุดเพิ่งเปิดแห่งใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี แต่จะเน้นให้บริการเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก

"การที่ภาครัฐต้องการให้นาโนไฟแนนซ์ เป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนรากหญ้า ทดแทนเงินกู้นอกระบบซึ่งยังมีถึง 1.3 ล้านรายที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ถามว่าสามารถตอบโจทย์ที่รัฐต้องการไหม ผมมองว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะทำไปก็มีแต่เจ๊ง แต่ที่ไม่เลิกกิจการกัน เพราะการมีใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์มันโก้เหมือนน้อง ๆแบงก์ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ปล่อยกู้รายใหม่หรือลูกค้าฐานรากตามที่ภาครัฐต้องการ ลูกค้ายังเป็นกลุ่มเดิมๆที่หมุนเวียนในกลุ่มเช่าซื้อ ลีสซิ่ง"

อนึ่งคุณสมบัติผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ปัจจุบันระบุว่า ต้องเป็นนิติบุคคล (บริษัทจำกัด /บริษัทมหาชนจำกัด) ที่มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio)ไม่เกิน 7 เท่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559