นักท่องเที่ยว 30 ล้านคน ปริมาณที่สร้างภาพลวงตา

09 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
ปี 2558 ที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบอกว่ามีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเที่ยวไทยมากถึง 29.6 ล้านคน และปี 2559 น่าจะทะลุ 30 ล้านคนสบายๆ พร้อมกับบอกว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ขนเงินมาใช้จ่ายมหาศาลมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเอาตัวรอดมาได้ ทั้งๆที่ส่งออกทรุดหนัก การบริโภคในประเทศก็หดตัว

ชาวบ้านฟังแล้วก็น่าเชื่อเพราะเห็นๆ อยู่ว่าที่สนามบินทั้งดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินทั่วประเทศหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่พูดกันสารพัดภาษา สายการบินต้องเพิ่มเที่ยวบินจนหานักบินไม่ทันรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวก็วิ่งกันขวักไขว่ เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ก็มีนักท่องเที่ยวเดินกันเต็มเมือง

แต่วันนี้ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่จำเป็นต้องรับจากรัฐบาลข้างเดียว ชาวบ้านเริ่มรูทันแล้วว่าสิ่งที่บอกมาคือภาพลวงตา เพราะจำนวน 29.6 ล้านคนนั้น คือคนหลากหลายระดับ หลากหลายวัฒนธรรม มีทั้งระดับดอกเตอร์และคนไร้การศึกษา มีตั้งแต่ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทัวร์เช่าเหมาลำ จนถึงมหาเศรษฐีที่นั่งเครื่องบินส่วนตัวมาเที่ยว

ตัวเลขที่เอ่ยอ้างว่าสร้างรายได้เข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ก็เป็นการเคลมจากจำนวนหัว แต่เอาเข้าจริงรัฐมนตรีท่องเที่ยวก็บอกไม่ได้ว่ามีเงินเข้าประเทศเท่าไร ในเมื่อมีความจริงว่าที่ขบวนการนำเที่ยวแบบไม่ปล่อยให้เม็ดเงินหล่นในมือคนไทย เช่นทัวร์จีนบางกลุ่ม ที่บินสายการบินจีน เข้ามาใช้โรงแรม ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า รถรับ-ส่ง ไกด์ ที่เป็นของคนจีนทั้งหมด

ถามว่านักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไทยประมาณ 8 ล้านคนในปีที่แล้ว ใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวในไทยสักกี่มากน้อย เมื่อเทียบกับวีรกรรมต่างๆที่มาสร้างไว้จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และมีผลให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นที่เบื่อกับเสียงล้งเล้งและพฤติกรรมที่รับไม่ได้ ต้องหนีไปหาความสงบในประเทศข้างเคียง

ภาพลวงตาของปริมาณนักท่องเที่ยวที่ได้ ทำให้ไทยต้องขยายสนามบินเกือบทุกแห่งทั่วประเทศเพื่อแก้ความแออัด ต้องมานั่งจัดการขยะล้นเมือง ต้องลงทุนขยายถนนหนทางเพราะการจราจรที่คับคั่ง

เมื่อชาวบ้านรู้ทัน กระทรวงท่องเที่ยวฯและรัฐบาลก็ออกมาบอกว่าจะเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ กำลังซื้อสูง กระเป๋าหนัก เช่นกลุ่มเศรษฐีใหม่ในอาเซียนและเอเชียที่ชอบล่องเรือ มีเรือยอชต์ลำละ10ล้านถึง 100 ล้านบาท ที่ออกล่องทะเลไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ

มีการศึกษาข้อมูลไว้ว่าปีที่แล้วมีเรือยอชต์เข้ามาเที่ยวทะเลไทย 2,000 ลำ ส่วนใหญ่มุ่งหน้าภูเก็ต 1,600 ลำ ที่เหลือไปกระบี่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยจอดที่ท่าจอดเรือหรือ "มารีน่า"ของภาคเอกชนที่เปิดให้บริการ

นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีกำลังซื้อและมีเวลากับการท่องเที่ยวมาก มีพฤติกรรมกินดี อยู่ดี จ่ายหนัก ซึ่งรัฐบาลมองว่าถ้าพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางของมารีน่าในอาเซียนได้ ก็จะสามารถดึงดูดเรือยอชต์จากทั่วโลกเข้ามาได้อีกเยอะ

แต่ปัญหาคือจำนวนมารีน่าที่ยังมีไม่มากพอ ที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะได้มาตรฐานทุกแห่ง ส่วนการลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่นควรจัดอยู่ในกลุ่มส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หรือสถาบันการเงินก็ควรศึกษาทำความเข้าใจว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขนาดไหน

วันนี้หน่วยงาน "กรมเจ้าท่า" เป็นเจ้าภาพหลักที่พยายามผลักดันไทยให้เป็นมารีน่าฮับของอาเซียน แต่เพราะทำอยู่หน่วยงานเดียวจึงเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่เรื่องนี้เชื่อมโยงไปยังกรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ

ถ้าจะให้ไว หากรัฐบาลไม่เพิ่มอำนาจให้กรมเจ้าท่า ก็ต้องสร้างหน่วยงานใหม่ที่มีเบ็ดเสร็จเข้ามาบริหารจัดการโดยเฉพาะ หาไม่แล้วก็คงไปเรื่อยๆตามระบบราชการไทยที่แข่งขันกับใครไม่ได้ สุดท้ายก็จมอยู่กับภาพลวงตาที่นั่งฝันกับตัวเลขนักท่องเที่ยว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559