บล.กสิกรไทยฯ กับความสำเร็จ 'KS Offshore ' เทรดหุ้น 31 ประเทศกับ 22 สกุลเงิน

06 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
ปัจจุบันนักลงทุนไทย มีช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น และที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นต่างประเทศ เพียงแค่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ก็สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหรือเทรดหุ้นทั่วโลกได้ด้วยตัวเอง

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ได้เปิดให้บริการเทรดหุ้นต่างประเทศ หรือ KS Offshore Investment ช่วงกลางเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ "สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี" รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ และ "กวี ชูกิจเกษม" รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทยฯ ถึงกลยุทธ์และจุดเด่นในการให้บริการเทรดหุ้นต่างประเทศ พร้อมมุมมองเรื่องการลงทุน

[caption id="attachment_42625" align="aligncenter" width="371"] สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี
รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์[/caption]

"สุทธิสิทธิ์" กล่าวว่า หลังจากที่บล.กสิกรไทยฯ เปิดให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ ปัจจุบันมีลูกค้าที่สนใจเข้ามาเปิดบัญชีเพื่อใช้บริการดังกล่าวแล้วกว่า 100 บัญชี แม้ว่าเงื่อนไขในการเปิดบัญชีดังกล่าวลูกค้าจะต้องมีเงินในบัญชีมาแสดงถึง 500,000 บาทก็ตาม อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ยังแสดงเจตจำนงในการซื้อหุ้นต่างประเทศในทันทีที่เปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

"ปัจจุบันเรามีลูกค้าที่เปิดบัญชีใช้บริการดังกล่าวแล้วกว่า 100 บัญชี จากปกติกว่าจะได้ 100 บัญชีจะต้องรอเป็นครึ่งปี แต่นี่เพียงแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น"

สำหรับจุดเด่นของการให้บริการดังกล่าวก็คือ ลูกค้าสามารถเทรดผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้เลยด้วยตัวเองเหมือนกับเวลาที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย อีกทั้งยังมีตลาดหุ้นให้เลือก 31 ประเทศกับ 22 สกุลเงิน ซึ่งไปไกลมาก โดยที่ลูกค้าสามารถใช้ช่วงเวลากลางคืนติดตามหุ้นของสหรัฐอเมริกา และยุโรปได้แบบเรียลไทม์ และเทรดได้ทันทีเมื่อต้องการ

นอกจากนี้ในส่วนของค่าคอมมิสชัน บล.กสิกรไทยฯ ก็คิดในอัตราที่ต่ำมากเกือบจะเท่ากับการเทรดหุ้นในไทย ซึ่งแต่ก่อนจะไม่มี เพราะการเทรดหุ้นในต่างประเทศจะถือว่าแพงมาก จากปกติเทรด 1 ล้านบาทจะต้องเสียค่าคอมมิสชัน 4,000 บาท แต่ของ บล. กสิกรไทยฯ จะคิดแค่ 2,000 -2,500 บาท ต่อการเทรด 1 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็จะให้ราคาพิเศษในรูปแบบของราคาที่ธนาคารต่อธนาคารซื้อขายกัน ไม่ใช่ราคาแลกเงินของบุคคลธรรมดา

"โอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะไปเก็งกำไรค่าเงินนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ หรือหากได้ก็จะต้องเป็นตลาดที่ผิดกฎหมาย เราจึงให้คำแนะนำไปว่าให้แลกเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และนำไปซื้อสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อดอลลาร์แข็งค่าก็จะได้กำไรจากราคาสินทรัพย์ โดยเมื่อขายได้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งกลับมาที่ประเทศไทยก็จะได้อีกต่อหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็น 2 ต่อ ซึ่งเวลานี้ถือว่าโอกาสเปิดมาก เรียกได้ว่าการเปิดให้บริการ KS Offshore Investment นี้จังหวะใช่มาก"

หากถามว่าเป็นภาพสะท้อนของผลตอบแทนในประเทศที่ต่ำหรือไม่นั้น "สุทธิสิทธิ์" มองว่าเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า โดยสะท้อนความเสี่ยงในประเทศซึ่งไม่ค่อยแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่ไม่ต้องการให้เกิด ทำให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศเยอะ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นทางเลือก เผื่อในอนาคตมีอะไรเกิดขึ้นก็ยังมีแหล่งเงินที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ต้องมาลุ้นกับความเสี่ยงในประเทศ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนสนใจไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับนักลงทุนโดยภาพรวม

"นี่เป็นโอกาสที่คนก็สนใจ มันจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็กำลังดูแลเรื่องการปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ซึ่งปีหน้าก็จะเป็นการผ่อนคลาย ขณะที่ปีถัดไปก็จะเปิดแบบแทบจะเสรี จากเดิมแต่ก่อนจะต้องเป็นกองทุน หรือไพรเวตฟันด์ ตอนนี้ใครมีกำลังก็สามารถบินไปเองได้เลย ไปเซ็นสัญญาที่ฮ่องกงได้เลย"

[caption id="attachment_42627" align="aligncenter" width="346"] กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ  บล.กสิกรไทยฯ กวี ชูกิจเกษม
รองกรรมการผู้จัดการ
บล.กสิกรไทยฯ[/caption]

ด้าน "กวี" กล่าวเสริมว่า โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกประเทศจะอยู่กันได้ด้วยการบริโภคในประเทศกันเอง การส่งออกจะถูกจำกัดลงไปเรื่อยๆ โดยทุกประเทศเริ่มมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ของในประเทศก็เริ่มมีพอใช้มากขึ้น เพราะฉะนั้นหากถามว่าธุรกิจใดที่น่าสนใจ ก็จะต้องเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเหล่านี้ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงแรม อินเตอร์เน็ต ไอที ประกันภัย ประกันชีวิต ส่วนธุรกิจทางด้านอาหารยังถือว่าพอไปได้ ขณะที่ในส่วนค้าปลีกก็จะต้องเป็นแบบสมัยใหม่

"ประกันของจีนตอนนี้น่าสนใจมาก เพราะคนยังไม่ค่อยทำกันเท่าไหร่ และประชาชนจีนก็มีอยู่เยอะมาก ที่อเมริกาก็น่าสนใจ ผู้ที่เป็นนักลงทุนระยะยาว ต้องเปรียบเทียบว่าที่ไทยกับต่างประเทศอะไรดีกว่ากัน"

"กวี" บอกว่า วันนี้หุ้นโรงพยาบาลในไทยเทรดกันที่พี/อี 40 เท่า แต่โรงพยาบาลในจีน หรือในอเมริกาซื้อขายกันแค่ 20 เท่า หากให้ผมเลือกผมก็ขายโรงพยาบาลในไทยก็ได้ แล้วไปซื้อหุ้นโรงพยาบาลในต่างประเทศ เนื่องจากหุ้น โรงพยาบาลเมืองไทยขึ้นแบบไร้เหตุผล อีกส่วนหนึ่งก็เพราะมีกองทุนในประเทศเข้ามาด้วย เพราะว่าไม่รู้จะไปซื้ออะไร ไอซีทีก็ไม่ได้ พลังงานก็ไม่มา ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศรายตัวก็ไม่ได้ แบงก์ก็กลัวจะเป็นเอ็นพีแอล แต่บริการของเราสามารถทำได้

อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องระวังคือ กลุ่มพลังงาน เพราะเวลานี้พลังงานทางเลือกมีมากขึ้น ผู้บริโภคต้องการพลังงานน้อยลง เห็นได้จากปัจจุบันที่รถคันหนึ่งสามารถวิ่งไปได้ในระยะทางที่ไกลมากโดยใช้น้ำมันเพียงน้อยนิด อีกทั้งในอนาคตยังมีเรื่องของเทคโนโลยี ไฮบริดที่กำลังก้าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของไฮโดเจน และรถไฟฟ้าที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

มาที่เรื่องผลตอบแทน "กวี" บอกว่าคงจะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เนื่องจากผ่านมาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น นักลงทุนบางรายยังไม่ขายเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นการถือยาว เนื่องจากเวลาที่ไปเทรดต่างประเทศจะไม่ใช่การลงทุนระยะสั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว โดยมองหุ้นที่มีพื้นฐานดีและถือยาว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูตลาดรอบใหญ่ด้วย แต่ในภาพรวมแล้วยังมองว่าเป็นขาขึ้นอยู่ แม้ว่าภาพของเศรษฐกิจจะชะลอ แต่ก็ยังไม่เข้าข่ายวิกฤติ ผสมผสานกับสภาพคล่องที่มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งนักลงทุนเวลานี้หันไปลงทุนตราสารหนี้กันมาก จนปัจจุบันผลตอบแทนในตลาดต่ำกว่าตลาดของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น

"ปัจจุบันมีการเก็งกำไรในตราสารหนี้เยอะ เพราะตราสารหนี้ของไทยมีสภาพคล่อง และก็พร้อมที่จะไปหาผลตอบแทน โดยเมื่อออกจากตลาดพันธบัตรก็จะไปหาตลาดหุ้น ก็จะโยกไปมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นก็มีโอกาสที่จะถูกปั่นขึ้นไปได้ในบางช่วงเวลา"

ถามว่าเมื่อเป็นแบบนี้จะถือยาวได้ไหม "กวี" บอกว่า จากความผันผวนที่เกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพคล่องในโลกยังสามารถถือยาวได้อีก 1 ปี โดยหากหาหุ้นที่พื้นฐานดี มีโอกาสที่จะโตได้ ผลตอบแทนที่ได้ก็จะเยอะมาก หากลงทุนระยะยาวผลตอบแทนที่ได้อาจจะถึง 50% แต่กับกลุ่มนักลงทุนที่เทรดไปเทรดมา หรือลงทุนระยะสั้นอาจจะไม่ค่อยได้ผลตอบแทนเท่าใดนัก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559