สงกรานต์ดันยอดรูดปรื้ดQ2เด้งขึ้น10-20%

07 เม.ย. 2559 | 04:00 น.
ธุรกิจบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล เฮรับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว/สงกรานต์ ดันยอดรูดปื้ด-กดเงินสด Q2 เด้งขึ้น 10-20% ค่าย "เคทีซี" จัดแคมเปญลดดอกเบี้ยสูง 70% ดูดลูกค้าใหม่ ส่วน "ไทยพาณิชย์" คาดช่วงมาตรการ 9 วัน ยอดใช้จ่ายหมวดร้านอาหารพุ่ง 20% คิดเป็น 120-150 ล้านบาท จากยอดปกติไตรมาสละ 600-700 ล้านบาท ฟาก "กสิกรไทย-ซีไอเอ็มบี ไทย" ชี้ความต้องการสินเชื่อดีดขึ้นกว่าไตรมาสแรก 10-20% เหตุวันหยุดเยอะ-ใกล้เปิดเทอม

นางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ เคทีซี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาสที่ 2 มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเปิดเทอม ตลอดจนมาตรการภาครัฐที่จะออกมาสนับสนุนในช่วงดังกล่าว จะเป็นอานิสงส์ที่จะช่วยกระตุ้นยอดการใช้จ่ายและความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมถึงยอดการกดเงินสดที่ปัจจุบันมียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000-1 หมื่นบาทต่อบาทต่อคน คาดว่ายอดการกดเงินสดจะมีทิศทางเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับเป้าหมายในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 15% คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีจะอยู่ที่ 2.11 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท และฐานลูกค้าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 7.47 แสนบัญชี โดยในช่วง 2 เดือนแรก บริษัทมียอดสินเชื่ออยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 12.8% จำนวนลูกค้าอยู่ที่ 7.46 แสนบัญชี ขณะที่ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดในเดือนมกราคาคมทั้งระบบมีอัตราการเติบโต 3.3% ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์มีอัตราการเติบโตติดลบที่ 1.9% มียอดสินเชื่อ 1.56 แสนล้านบาท สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ขยายตัว 8.9% ยอดสินเชื่อ 1.65 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีโปรแกรมสำหรับลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า โดยลูกค้าใหม่ที่สมัครใช้สินเชื่อและได้รับการอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม-30 เมษายนนี้ จะสามารถเข้าโปรแกรม "ซูเปอร์เซฟ 70%" โดยเงื่อนไขลูกค้าที่มียอดสินเชื่อคงค้าง 2 รอบบิลตั้งแต่ 1.8 หมื่นบาท จะได้รับการลดดอกเบี้ยจำนวน 30% และยอดคงค้าง 2.5 หมื่นบาท ส่วนลดดอกเบี้ย 50% และยอดคงค้าง 3.5 หมื่นบาท จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอยู่ที่ 70% ส่วนลูกค้าเก่าหากมียอดคงค้างทุก 2 พันบาท จะได้รับสิทธิ์ลุ้นโทรศัพท์ไอโฟน 6s จำนวน 60 เครื่อง มูลค่ากว่า 1.95 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-30 พฤษภาคมนี้

"ช่วงเดือนเมษายนจะมีความต้องการสินเชื่อค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวคนกลับต่างจังหวัด ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้สินเชื่อบุคคลในช่วงนี้จะขยายตัวค่อนข้างสูงและดีกว่าไตรมาสแรก ส่วนหนี้เอ็นพีแอลบริษัทยังสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับ 1% จากทั้งระบบอยู่ที่ 5.2% ถือว่าเราจัดการได้ค่อนข้างดี"

นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลังจากรัฐบาลออกมาตรการการส่งเสริมการท่องเที่ยวรับช่วงสงกรานต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว และรับประทานอาหารในร้านอาหาร สามารถนำไปใช้สิทธิ์ลดภาษีสูงสุด 30,000 บาท โดยระยะเวลามาตรการตั้งแต่วันที่ 9-17 เมษายน 2559 จะช่วยกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดท่องเที่ยวและการรับประทานอาหารที่คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านหมวดดังกล่าวเติบโตประมาณ 20% หรือประมาณ 120-150 ล้านบาท ในช่วงเวลา 9 วัน จากช่วงปกติจะมียอดใช้จ่ายผ่านหมวดดังกล่าวประมาณ 600-700 ล้านบาท ส่วนในหมวดโรงแรม-ที่พักถือว่าเป็นการกระตุ้นระยะยาว แต่ทั้งปีคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโตได้ตามเป้าที่ระดับ 10-12%

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภายหลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดร้านอาหาร และที่พักเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล คาดว่าจะมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% จากช่วงปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาวในช่วงเดือนเมษายน และช่วงพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดเทอม ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้สินเชื่อพอสมควร ประกอบกับมาตรการกระตุ้นภาครัฐออกมา ทำให้ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงไตรมาสที่ 2 น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเติบโตสุทธิประมาณ 2-3 พันล้านบาท โดยในช่วง 3 เดือนแรกธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่แล้ว 1.8 พันล้านบาท โดยสินเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เงินรูปแบบผ่อนชำระ ส่วนการกดเงินสดยังไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีโปรแกรมอัตราดอกเบี้ยกดเงินสดอยู่ที่ 5.99% ผ่อนระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งต่ำกว่าเรตปกติอยู่ที่เฉลี่ย 24-26%

นางสาวศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารประเมินว่าอัตราการเติบโตภาพรวมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาสที่ 2 มีทิศทางขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ในหมวดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจะขยายตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับเป็นช่วงที่มีวันหยุดเทศกาลค่อนข้างยาว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตร รวมถึงปริมาณการกดเงินสดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรก ธนาคารมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตอยู่ที่ 10-11% จากเป้าหมายทั้งปียอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท ส่วนเป้าหมายบัตรใหม่อยู่ที่ 6 แสนใบ ขณะที่ยอดการกดเงินสดอยู่ที่ประมาณ 2-4% แม้ว่าจะขยายตัวลดลง แต่เชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ยอดการกดเงินสดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการในช่วงเทศกาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559