ทีดีอาร์ไอ เสนอยกระดับการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นตัดสินใจ แก้ปัญหาไทยจากรากฐาน

01 เม.ย. 2559 | 06:30 น.
 

[caption id="attachment_42179" align="aligncenter" width="299"] 026A0520_resize ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์[/caption]

ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับบทบาทรัฐไทย ให้ประชาชนได้บริการที่ดี”  ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เสนอแนวทางการพัฒนาการให้บริการสาธารณะ ด้วยการยกระดับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  โดยยกตัวอย่างการให้บริการสาธารณะของ อปท. ทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ  และสวัสดิการสำหรับคนพิการ ซึ่งพบว่า การกระจายอำนาจทำให้ อปท. หลายแห่งสามารถให้ “บริการแบบเสื้อสั่งตัด” ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่า “บริการแบบเสื้อโหล” จากรัฐบาลกลาง

ดร.สมเกียรติ กล่าว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการกระจายอำนาจในช่วงปี 2540 อปท.จำนวนไม่น้อยสามารถยกระดับบริการสาธารณะจากเดิมที่มีรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ ให้กลายเป็นบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น เช่น อบจ. เชียงใหม่ ซึ่งรับถ่ายโอนโรงเรียนจาก สพฐ. ได้สมทบงบประมาณเพิ่มเติมและให้อิสระแก่โรงเรียนในการจัดหลักสูตรตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เช่น การเปิดสอน 4 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีนและล้านนา  การใช้ไอทีในการเรียนรู้มากขึ้น  ตลอดจนการฝึกอาชีพ เช่น หัตถกรรม การทำผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในเชียงใหม่

งานด้านผู้สูงอายุของเทศบาลนครนนทบุรี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการให้บริการของ อปท. ตามความต้องการของประชาชน   ก่อนหน้านั้น ผู้สูงอายุในนนทบุรีได้รับสวัสดิการจากรัฐในรูปแบบที่จำกัดมาก แต่เมื่อเทศบาลนครนนทบุรีสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ก็ทำให้มีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมร่วมกันของผู้สูงอายุ และเกิดกิจกรรมที่หลากหลายกว่า  20 กิจกรรมซึ่งผู้สูงอายุเข้าร่วมได้ตลอดทั้งวัน เช่น ไท้เก๊ก ระบำพัด ลีลาศแบบต่างๆ และการเรียนภาษาอังกฤษ เป็นต้น

สวัสดิการคนพิการของ อบจ. หนองบัวลำภู เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบริการของ อปท. ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดย อบจ. หนองบัวลำภู ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ  ซึ่งสามารถให้สวัสดิการคนพิการอย่างรอบด้าน  ทั้งการทำกายภาพบำบัด การปรับปรุงที่อยู่อาศัย และการจัดทำกายอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละคนซึ่งมีความต้องการเฉพาะ แตกต่างจากสวัสดิการเดิมของรัฐบาลที่เน้นเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล และยังทำให้ประชาชนโดยเฉพาะองค์กรผู้พิการมีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ กลายเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยัง อปท. อื่นๆ อีกหลายแห่ง

การศึกษาที่ผ่านมาของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังยืนยันว่า การกระจายอำนาจช่วยให้ท้องถิ่นไทยสามารถพัฒนาการให้บริการสาธารณะได้อย่างมาก โดยประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจกับบริการของ อปท. โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ดร.สมเกียรติ เสนอว่า เพื่อให้ อปท. สามารถให้บริการที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชนได้มากขึ้น ควรยกระดับการกระจายอำนาจในประเทศไทยโดยดำเนินการดังนี้ หนึ่ง  เพิ่มความเป็นอิสระในการตัดสินใจของ อปท. ให้พ้นจากการแทรกแซงของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีอำนาจให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น และอนุมัติงบประมาณ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย   สอง  สร้างแรงจูงใจให้ อปท. ขนาดเล็กควบรวมกันให้เกิด อปท. ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนได้ดีขึ้น  สาม ควรสร้างกลไกให้ อปท. รับผิดต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น  โดยกำหนดมาตรฐานการให้บริการ และให้ อปท. เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเพิ่มขึ้น