หาเอกชนร่วมทุนสถานีบางซื่อ บอร์ด ร.ฟ.ท. เร่งส่งผลศึกษาเสนอ คค.ชงสคร. - พีพีพี

05 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
บอร์ด รฟท.ไฟเขียวจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ เร่งการรถไฟให้ส่งผลการศึกษาเสนอคมนาคมชง สคร.และคณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบ

นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯครั้งล่าสุด บอร์ดมีมติเห็นชอบโครงการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ โดยให้รฟท.เร่งเสนอโครงการไปให้กระทรวงคมนาคม (คค)พิจารณาเห็นชอบนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณานำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี)ต่อไป

"ขณะนี้ผลการศึกษาแล้วเสร็จและส่งเรื่องมาให้รฟท.แล้ว โดยเฉพาะผลการศึกษากรณีร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ปี 2556 ซึ่งจะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบนำเสนอหน่วยเกี่ยวข้อง สุดท้ายถึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไป"

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อนี้จะเป็นโครงการผสมผสานขนาดใหญ่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การประชุม และศูนย์กลางการคมนาคม

นอกจากนั้นยังเห็นชอบผลการพิจารณาข้อเสนอการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด(แอร์พอร์ตลิ้งค์)หรือ รฟฟท.กรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างรฟท.กับรฟฟท.เนื่องจากมีระเบียบขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมายอีกหลายประเด็น โดยเห็นชอบตามที่คณะทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานเสนอ โดยให้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

"เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆที่แอร์พอร์ตลิ้งค์นำเสนอพิจารณา อาทิ อนุมัติปรับขอบเขตงานวงเงินจ้างซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระ 9 ขบวนโดยอนุมัติจ้างวิธีพิเศษ ขออนุมัติซื้อแบตเตอรี่สำรอง การจัดหาอุปกรณ์ซิมูเรเตอร์ การจัดหาอุปกรณ์ประกอบชุดควบคุมมอเตอร์ จำนวน 36 ชุด และการซ่อมบำรุงเจียรรางบอร์ดร.ฟ.ท.ก็ได้อนุมัติให้แอร์พอร์ตลิ้งค์รับไปดำเนินการแล้วทั้งหมด ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามระเบียบวัสดุที่เกี่ยวข้องทั้งหมด"

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท.กล่าวว่าที่คณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟฯได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางคือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทไปแล้วนั้น บอร์ดยังได้อนุมัติค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 4 เส้นทางคือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 450 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 423 ล้านบาท ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 611 ล้านบาท และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 356 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังได้ส่งเรื่องคืนให้ร.ฟ.ท.กรณีค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือน้ำลึกทวาย มูลค่า 346 ล้านบาทเนื่องจากผลการศึกษาออกแบบเบื้องต้นนั้นยังไม่ชัดเจนจึงยังไม่มีความคุ้มค่าด้านการลงทุน อีกทั้งยังต้องรอนโยบายของกระทรวงคมนาคมอีกครั้งเพราะแนวเส้นทางโครงการยังซ้ำซ้อนกับแนวโครงการรถไฟภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นช่วงกาญจนบุรี-แก่งคอย-สระแก้ว และแก่งคอย-แหลมฉบังอีกด้วย

"การดำเนินงานเปิดประมูลได้จะต้องรอให้ผ่านการพิจารณารับรองด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ก่อน ซึ่งช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จะมีความพร้อมมากกว่าเส้นทางอื่นๆที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอีไอเอ แต่คาดว่าจะทยอยออกมาได้ครบทั้งหมดภายในกลางปีนี้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559