เส้นทางวิบาก ร่างรธน.ฉบับมีชัย ก่อนทำประชามติ 7 สิงหา 59

05 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
ฉายหนังตัวอย่างไปบ้างบางส่วนในวันเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (ฉบับสมบูรณ์) ซึ่งเป็นร่างฉบับก่อนลงประชามติ เมื่อเวลา 13.39 น.ของวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 และจะครบกำหนดในวันที่ 1 เมษายนนี้แล้ว

[caption id="attachment_42540" align="aligncenter" width="503"] เส้นทางทำประชามติร่าง รัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับสมบูรณ์ เส้นทางทำประชามติร่าง รัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับสมบูรณ์[/caption]

นับตั้งแต่เปิดตัวร่างแรกไป กรธ.ได้รับข้อเสนอจากทุกภาคส่วน รวม 259 ข้อมาปรับปรุงแก้ไขใน 88 มาตรา โดยนำมาควบรวม 6 มาตรา และเพิ่มใหม่อีก 15 มาตรา รวมร่างฉบับสมบูรณ์นี้มีทั้งสิ้น 279 มาตรา 105 หน้า แบ่งเป็น 16 หมวด คือ 1.บททั่วไป 2.พระมหากษัตริย์ 3.สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย 4.หน้าที่ของปวงชนชาวไทย 5.หน้าที่ของรัฐ 6.แนวนโยบายแห่งรัฐ 7.รัฐสภา 8.คณะรัฐมนตรี 9.การขัดกันแห่งผลประโยชน์ 10. ศาล 11. ศาลรัฐธรรมนูญ 12.องค์กรอิสระ 13.องค์กรอัยการ 14.การปกครองท้องถิ่น 15.การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ 16.การปฏิรูปประเทศ และบทเฉพาะกาล
อาจารย์มีชัย ตีกรอบอธิบายสาระสำคัญของร่างฉบับนี้ โดยระบุว่า แม้จะไม่ได้พูดว่า ประชาชนเป็นใหญ่ หากแต่ก็มุ่งให้เกิดความทัดเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ ประชาชนได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพ ยึดตามหลักของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่การมุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ต้องมุ่งไปที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

ในประเด็นทางการเมือง กรธ.ยังใช้หลักการเดิม อาทิ การได้มาซึ่งส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว รวมถึงที่มาของส.ว. ยังมาจากการเลือกกันเองของประชาชนกลุ่มต่างๆ ตามที่จะมีรายละเอียดกำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การเลือกส.ว. ต้องการให้มาจากประชาชนโดยตรง และไม่สังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ในบทเฉพาะกาลว่าด้วยที่มาของ ส.ว.นั้น กรธ.ได้ปรับเพิ่มเติมตามคำร้องขอของคณะรัฐมนตรี, คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีให้มาจากการสรรหาจำนวน 250 คน มีวาระ 5 ปี
แต่ในจำนวนนี้ขอไว้ 50 คนเพื่อใช้วิธีการเลือกกันเองจากประชาชนในพื้นที่ มาทดลองระบบใหม่ โดยให้มีการเลือกกันทั้งประเทศ เหลือ 200 คน แล้วให้คสช. เลือกเหลือ 50 คน ส่วนอีก 200 คน ให้มีการตั้งกรรมการสรรหาคัดเลือกจากผู้สมัคร 400 คน เหลือ 194 คน และอีก 6 คน มาจากผู้นำเหล่าทัพ พร้อมอธิบายให้เห็นภาพว่า ส.ว.สรรหาดูแลการปฏิรูปให้เกิดความต่อเนื่องและดูแลด้านกฎหมายที่จะต้องทำไปพร้อมกัน ขณะที่ส.ว.ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพให้มาดูเรื่องความมั่นคง หากมีปัญหาที่สุ่มเสี่ยงก็ให้ส.ว. 6 คนนี้มาชี้แจงต่อที่ประชุมจะได้ไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวนอกสภา

ส่วนข้อกังวลในการใช้บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เช่น กำหนดให้ต้องใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ในสภา เพื่อพิจารณาขอให้มีการเสนอชื่อนายกฯที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีได้ และถ้าที่ประชุมรัฐสภาโดยคะแนนเสียง 2 ใน 3 เห็นชอบ แล้วให้สภาผู้แทนฯกลับไปพิจารณาเลือกนายกฯจากบัญชีซึ่งอาจเป็นคนในบัญชีหรือนอกบัญชีก็ได้ ถือเป็นเรื่องใหม่จะเกิดอะไรขึ้นคงเดาได้ยาก กรธ.เขียนเปิดช่องไว้ แต่ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่ต้องใช้

ส่วนหมวดซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหูก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ รวมถึงการปฏิรูปมีการปรับแก้ไขมากที่สุด โดยสาระในหมวดการปฏิรูปนั้นกำหนดเนื้อหาเอาไว้ 7 ด้าน และด้านอื่นๆเพื่อให้เพิ่มเติมในรายละเอียดได้ โดยมีบทเร่งรัดการออกกฎหมายที่ทำได้ยากต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 240 วัน อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ทั้งยังมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหัวหน้าส่วนราชการที่ต้องร่วมดำเนินการปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด หากทำไม่เสร็จหัวหน้าส่วนราชการต้องร่วมรับผิดชอบ

ยังคงรักษาระดับความเข้มข้นในเรื่องของกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่การเมือง และเมื่อทำผิดต้องไม่สามารถเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก รวมถึงการวางกลไกให้รัฐ ส่งเสริมภาคประชาชนต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตร่วมกับรัฐได้ขณะที่ในส่วนขององค์กรอิสระได้ปรับเปลี่ยนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งให้เหลือ 7 ปี เท่าๆกันทุกองค์กร
เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของไทยจะไปทิศทางใด ยังต้องเกาะติดกันต่อเนื่อง เมื่อในหลายประเด็นยังต้องการความกระจ่าง ดังเช่น ในเวที สนช. และสปท. ที่เปิดประชุมซักฟอกร่างรธน.ฉบับนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในหลากหลายประเด็นเช่นกัน นับตั้งแต่กรณีที่ กรธ.ตัดอำนาจหน้าที่ในการถอดถอน ส.ส.ออกไป ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า เพราะที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่า จะถอดถอนนักการเมืองได้เลย จึงเปลี่ยนให้กรณีที่กระทำผิด ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือจงใจฝ่าฝืนรธน.ให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนและส่งให้ศาลฎีกาทำหน้าที่พิพากษา หากใครมีความผิดก็จะถูกตัดสิทธิการลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต

[caption id="attachment_42539" align="aligncenter" width="500"] ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย[/caption]

ควบคู่มากับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคการเมืองใหญ่ที่ทยอยออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ถี่ขึ้นๆ ดังเช่น พรรคเพื่อไทย ออกมาตั้งโต๊ะอ่านแถลงการณ์คัดค้านร่างดังกล่าว เตรียมรณรงค์ประชาชนคว่ำร่างรธน.ทันควัน ส่งผลให้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาเบรกการกระทำดังกล่าวว่า การแถลงการณ์คัดค้านไม่ยอมรับร่างรธน.ดังกล่าว เป็นสิทธิ์สามารถทำได้ แต่หากรณรงค์อาจสุ่มเสี่ยง ขณะที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นผ่านสื่อว่า ถอยหลังกว่ารธน.ปี 2550 โดยเฉพาะการเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก หรือให้เหล่าทัพมาเป็น ส.ว.ถึง 6 ตำแหน่ง เป็นต้น นับจากนี้ ยังต้องเกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวกันต่อเนื่องจนกว่าจะถึงวันลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559