ข้อควรระวัง!! ก่อนวันลงประชามติ

04 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
จากบทเรียนความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ในวันลงประชามติที่รัฐบาลประกาศอย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นวันที่ 7 สิงหาคม นี้ น่าสนใจว่า ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.. หรือ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กฎหมายที่จะกำหนดกติกาเพื่อให้การทำประชามติให้เกิดความสงบเรียบร้อย

ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายประการที่น่าสนใจที่เป็นข้อห้ามต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาคอการเมือง "กลุ่มฮาร์ดคอร์" ทั้งหลายที่ต้องพึงระวังไว้ อาทิ กรณีการโพสต์เฟซบุ๊ก เล่นไลน์ มีภาพและเสียงที่บิดเบือนผิดไปจากข้อเท็จจริง ใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ข่มขู่ หวังปลุกระดม งานนี้มีโอกาสได้เปลี่ยน "ที่นอน" ใหม่ จากที่บ้านเข้าไปนอนใน "คุก" อย่างน้อย 10 ปี พร้อมโทษปรับอีก 200,000 บาท

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อ “ห้าม” มิให้มีการเผยแพร่ผลโพลล์เกี่ยวกับการออกเสียงก่อนวันลงประชามติ 7 วัน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ "ฉีกบัตรลงคะแนน" คราวนี้เจอโทษปรับแน่ ทั้งยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการ "ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ" มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท กรณีนำบัตรออกนอกสถานที่ออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนใครที่นึกสนุกอยากจะเซลฟี ถ่ายรูปบัตรออกเสียงประชามติที่ตัวเองได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว เอาไว้เป็นที่ระลึก โปรดพึงระวังเช่นกัน กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างกฎหมายนี้ รวมถึงจะเล่นพนันผลประชามติ ซึ่งมีผลจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง "ไม่ไปใช้สิทธิ" หรือส่งผลต่อการออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งยังห้ามจำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น.ของวันก่อนออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ก็เปิดช่องให้แสดงความเห็นได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน หากดำเนินการหรือปฏิบัติตามแนวทาง รูปแบบกิจกรรมที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) เป็นผู้กำหนด และกรณีหากเห็นว่าการลงประชามติเกิดการทุจริต ไม่โปร่งใส สามารถยื่นคำร้องคัดค้าน พร้อม "หลักฐาน" ต่อ กกต.ได้ภายใน 24 ชม.นับแต่การลงคะแนนสิ้นสุดลง

รู้แล้ว จงพึงระวังอย่าให้เสียสิทธิการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559