มะกัน VS รัสเซีย ศึกมหาอำนาจ “นอกโลก”

08 ธ.ค. 2562 | 04:59 น.

คอลัมน์ หลังกล้องไซบีเรีย: มะกัน VS รัสเซีย ศึกมหาอำนาจ “นอกโลก” / เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

          “สปุตนิก 1” ดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ขึ้นสู่วงโคจรโลก สร้างโดยฝีมือนักวิทยาศาสตร์โซเวียต

          “ไลกา” สุนัขจรจัดบนท้องถนนกรุงมอสโก กลายเป็นสุนัขตัวแรกที่ถูกส่งไปโคจรรอบโลก

           “ยูริ กาการิน” ผู้ได้รับบันทึกว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ คือชาวโซเวียต

            ตั้งแต่ยุคโซเวียต รัสเซียคือหนึ่งในชาติที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในแถวหน้าวงการเทคโนโลยีอวกาศของโลก แม้ว่าปัจจุบันเรามักคุ้นหูกับชื่อองค์กรอย่าง “นาซา” (NASA) ของสหรัฐอเมริกาเสียมากกว่า แต่บทบาทและความสำคัญของรัสเซียกลับไม่ได้ลดลงไปเลย ทั่วทั้งรัสเซียยังคงมีการเรียนการสอน รวมทั้งโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศที่เข้มข้นมากมายอย่างต่อเนื่อง

มะกัน VS รัสเซีย ศึกมหาอำนาจ “นอกโลก”

            ยิ่งหลังช่วงปี 2554 ที่สหรัฐฯ ประกาศปลดประจำการกระสวยอวกาศโครงการ Space Shuttle ทำให้ยานอวกาศ “โซยุซ” (Soyuz) ของรัสเซียกลายเป็นที่พึ่งเดียวของสหรัฐฯ เพื่อขนส่งลูกเรือขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ทวีอำนาจในการวงการนอกชั้นบรรยากาศโลกให้กลับมาอยู่ในมือรัสเซียอีกครั้ง โดยนาซาต้องจ่ายเงินให้รัสเซียสูงถึง 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2,500 ล้านบาทต่อที่นั่ง เป็นค่าบริการขนส่งลูกเรือด้วยยานอวกาศโซยุสเลยทีเดียว           

มะกัน VS รัสเซีย ศึกมหาอำนาจ “นอกโลก”

           ทว่าหลังจากปี 2563 ที่จะถึงนี้ สถานการณ์อาจพลิกผัน เมื่อนาซากำลังเริ่มอนุญาตให้ใช้งานจรวดที่พัฒนาโดยภาคเอกชนได้แล้ว โดยเริ่มจากยาน Crewed Dragon ที่พัฒนาโดย SpaceX และ Starliner ของ Boeing ในช่วงต้นหน้าร้อนปีหน้า หลังจากที่เดิมวางแผนเปิดใช้งานในปี 2560 แต่ต้องเลื่อนมา 3 ปีเนื่องจากติดปัญหาเชิงเทคนิค บวกกับนโยบายการลดจำนวนนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติชั่วคราว และการชะลองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองอวกาศ ทำให้การดำเนินงานต้องเลื่อนออกมาเรื่อยๆ

            หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ปีหน้าจะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษที่นักบินอวกาศสัญชาติสหรัฐอเมริกาได้เดินทางออกจากพื้นดินบ้านเกิดตัวเองเสียที หลังจากที่ต้องพึ่งพายานโซยุสของรัสเซียติดต่อกันมาเป็นเวลานาน

            นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัสเซียกำลังสูญเสียสถานะ “มหาอำนาจ” ในวงการเทคโนโลยีนอกโลกไปอย่างช้าๆ

            นอกจากปัญหาจากปัจจัยภายนอกแล้ว ดูเหมือนว่าโครงสร้างปัญหาภายในของหน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศเองก็กำลังอยู่ในช่วงขาลง หลังจากปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จรวดโซยุสเข้าท่าจอดเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อนส่งนักบินใหม่พลาดจนเกิดรอยรั่วในสถานี และเพียงไม่กี่เดือนถัดมาระบบเซ็นเซอร์ของยานโซยุสก็ขัดข้องต้องลงจอดฉุกเฉิน

มะกัน VS รัสเซีย ศึกมหาอำนาจ “นอกโลก”

           สองเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกัน ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่สะท้อนความถดถอยในระบบควบคุมคุณภาพการปฏิบัติงานของทางรัสเซีย ทั้งที่โซยุสนั้นเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ช่วงปีค.ศ.1960 และมีชื่อเสียงเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่หากยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพต่อไป ทางอเมริกาอาจตัดสินใจเลือกใช้บริการยานจากภาคพาณิชย์ทดแทนมากขึ้น

            ขณะเดียวกัน ท่าทีของทางนาซาตอนนี้เหมือนจะสนใจสนับสนุนการพัฒนาบริษัทท่องเที่ยวนอกโลกที่มีที่ตั้งภายในอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจการบินอวกาศภาคเอกชนขึ้นไปอีก

            การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนในสหรัฐฯ เข้ามาในตลาด ทำให้ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นการพัฒนาสถานีอวกาศภาคเอกชนขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านอวกาศ 5 หน่วยจากสหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา ญี่ปุ่น และยุโรป หรือแม้แต่เลยไปถึงการสร้างสถานีใหม่แทนที่สถานีปัจจุบันในที่สุด

            แม้การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจะพลิกผันจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ทว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวรัสเซียในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เห็นได้จากการเป็นเจ้าภาพงานฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา “อวกาศ” ถูกใช้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศ ทั้งการเลือกเปิดตัวสัญลักษณ์งานบนสถานีอวกาศ ทั้งการส่งลูกบอลที่ใช้ในแมทช์เปิดงานขึ้นไปทดสอบถึงนอกโลก

            จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าหน่วยงานที่ดูแลเรื่องอวกาศของรัสเซียยังผูกอยู่กับภาครัฐเกือบทั้งหมด เมื่อคู่แข่งคนสำคัญอย่างสหรัฐฯ เปิดบ้านต้อนรับเอกชนเข้ามาในสนาม รัสเซียอาจต้องเร่งหาทางแก้มือเพื่อรักษาความเป็นมหาอำนาจนอกชั้นบรรยากาศโลกต่อไปให้ได้