จี้รัฐสปีดลงทุน63 หัวขบวนกู้วิกฤติหลังพิษศก.โลกลามหนัก

23 พ.ย. 2562 | 04:56 น.

เอกชนชี้ไข้เศรษฐกิจโลกลามไทย ทำงานลดรายได้หด อนาคตอึมครึมส่งผลมาตรการอัดฉีดภายในเริ่มไร้ผล หวั่นลงทุนตํ่าฉุดการออมในระยะถัดไป แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นจริงจัง สร้างเชื่อมั่นทางการเมือง

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังโตแผ่วต่อเนื่อง หลังสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี 2562 และ 2563 จะขยายตัวแค่ 2.6% และ 3.2% ตามลำดับ ท่ามกลางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ความเสี่ยงยังปกคลุม สำนักวิจัยเศรษฐกิจชี้ความเสี่ยงภายนอกลามติดไทย แรงขับเคลื่อนในประเทศแผ่ว แนะรัฐออกมาตรการ

กระตุ้นจริงจังสร้างเชื่อมั่นทางการเมืองจับตา2 เครื่องยนต์ “ส่งออก-ภาคท่องเที่ยว” ฟื้นต่อหรือไม่

 

ไข้โลกลามไทย

นายสมประวิณ มัน-ประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเชื่อมโยงถึงในประเทศแล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลกระทบทั้งภาคการผลิต โดยเฉพาะการจ้างงาน โรงงานมีการลดชั่วโมงทำงาน งดโอที หันจ้างรายชั่วโมง แม้ยังไม่เห็นตัวเลขการว่างงานขยับ แต่รายได้ในระบบชะลอตัวแล้ว ส่งผลการลงทุนเอกชนและกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ในภาวะฝืดมากขึ้น

“สัญญาณเศรษฐกิจขาลงมีความชัดเจนขึ้น ฉุดทั้งกำลังซื้อและการลงทุน ต้องจับตาอีก 2 เครื่องยนต์คือ ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ว่าจะฟื้นตัวต่อหรือไม่ นอกจากนี้ทิศทางของเงินบาท ที่ยังมีแนวโน้มไม่อ่อนค่าเป็นอีกแรงฉุด ทำให้ผู้ส่งออกผู้ผลิตลดหรือหยุดการผลิต การจ้างงาน และกระทบกำลังซื้อในที่สุด”

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า รอบล่าสุดปัญหามาจากการลงทุนในประเทศไม่เกิด ส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าคงเหลือ (สต๊อก) โดยไม่มีการผลิตสินค้าเพิ่ม ทิ้งไว้นานจะเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจน และหวังว่าการลงทุนภาครัฐจะเดินหน้า เพราะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณใหม่

“ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่อาจชะลอตัว แม้หลายที่อาจมีสัญญาณการฟื้นตัวแต่สัญญาณการส่งออกของไทยยังไม่กลับมา จึงมีความเสี่ยงที่ GDP อาจจะหลุดเป้า และนโยบายรัฐบาลปัจจุบันถ้ากระตุ้นการบริโภคต่อไป ระยะยาวจะทำให้การออมปรับลด จะลำบากในอนาคตถ้าประเทศต้องการลงทุนแต่ไม่มีเงินออมที่เพียงพอ”

 

แฉข้าราชการเกียร์ว่าง

แหล่งข่าวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวกินเวลายาวไปถึงปีหน้า ส่วนหนึ่งเพราะความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ขยับตามกรอบเวลาที่กำหนด หรือภาคราชการไม่ทำตามคำสั่งนักการเมือง รวมทั้งโครงการ อีอีซี ทั้งๆ ที่เป็นแค่เรื่องการแก้ไขกฎหมายข้อปฏิบัติให้ลงทุนง่ายและสะดวกขึ้น ไม่เกี่ยวกับเม็ดเงินด้วยซ้ำ

“ตอนนี้ไม่ว่าจะออกนโยบายอะไรก็ส่งผ่านได้ไม่เยอะ ส่วนหนึ่งเพราะข้าราชการไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ปัญหารอบนี้เพราะข้าราชการเกียร์ว่าง ทำให้โครงการภาครัฐไม่ขยับ”

 

จี้รัฐหัวขบวนเร่งลงทุน

     นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 น่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ยังกระทบต่อเนื่องไปมี 1.สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังยืดเยื้อ 2.เงินบาทที่ยังแข็งค่า เมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน หรือสกุลอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วย กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย และ 3.การขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวมยังคงชะลอ ผลจากงบประมาณปี 2563 ออกมาล่าช้า หากเริ่มใช้เมื่อไหร่รัฐบาลต้องจี้ให้ทุกหน่วยเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ ประการสำคัญรัฐบาลต้องเป็นหัวขบวนการลงทุน สำหรับเอกชนอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 จะเติบโตได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่รุกตลาดอย่างหวือหวาเช่นปี 2561

 

บินไทยพร้อมรับ

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่าธุรกิจการบินปีนี้เป็นปีที่ยากลำบาก และปีหน้าก็ไม่ต่างกัน เนื่องจากยังไม่เห็นภาพ ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างไร ซึ่งบาทที่แข็งเกินไปทำลายความได้เปรียบด้านการแข่งขัน รายได้หลักของการบินไทย คือ การขายตั๋วโดยสารในต่างประเทศ วันนี้ขายราคาเดิมยังเจ็บตัวราว 5% หากต้องการรักษารายได้เงินบาทเท่าเดิม ต้องเฉือนเนื้อตัวเอง แต่ธุรกิจการบินในยุโรปยังไปได้ โดยเปลี่ยนจากบินระยะไกลเป็นเที่ยวบินระยะใกล้แทน หรือเปลี่ยนไปเที่ยวเพื่อนบ้านเราที่แพ็จเกจท่องเที่ยวถูกกว่า

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ยังต่อเนื่องถึงปีหน้า ทำให้ไม่ได้คาดหมายว่าจะดีขึ้น และปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ยังไม่เห็นแนวโน้มจะคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าบาทแข็ง ปัญหาเบร็กซิท สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หรือปัญหาฮ่องกง เราจึงเตรียมรับมือโดยวางแผนจากจุดที่แย่ที่สุดไว้ก่อน บวกกับการแข่งขันรุนแรง จึงต้องมุ่งทำงานอย่างรอบคอบทุกมิติ มีแผนรองรับเป็นรูปธรรม และมุ่งทำตามแผนฟื้นฟูต่อเนื่อง


จี้รัฐสปีดลงทุน63  หัวขบวนกู้วิกฤติหลังพิษศก.โลกลามหนัก

 

ค้าปลีกงัดกลยุทธ์ดูดลูกค้า

เช่นกันวงการค้าปลีกไม่ฝากความหวังมาตรการกระตุ้น นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็ค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีหน้าภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่น่าดีขึ้นจากปีนี้มากนัก แม้จะมีมาตรการชิมช้อป ใช้ เข้ามากระตุ้นในช่วงปลายปี แต่ปลุกเศรษฐกิจฟื้นได้ไม่มากนักเนื่องจากไม่ตอบโจทย์ระยะยาว

กำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอกระทบตลาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่น (Fashion Apparel Market) มูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านบาท ของไทยให้มีความท้าทายมากขึ้น คนใช้จ่ายน้อยลงจ่ายเท่าที่จำเป็น ต้องจัดกิจกรรมการตลาด โปรโมชัน แคมเปญเข้ามากระตุ้น เพื่อรอจังหวะเศรษฐกิจกลับมาโต

 

โรงงานอยุธยาจ่อ“เลิกจ้าง”

แหล่งข่าวจากภาคการผลิตในพื้นที่จังหวัพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกลามถึงกำลังซื้อในประเทศเริ่มส่งผลกระทบแล้ว ขณะนี้บางโรงงานมีประกาศภายในลดเวลาทำงานลง เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ลดลงซึ่งบรรยากาศแบบนี้เริ่มปรากฏมาได้ 2-3 เดือนแล้วและยังไม่ดีขึ้น

“ถ้าสถานการณ์ปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากที่สุด ยังไม่ดีขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าบางโรงงานอาจจะออกมาประกาศ เลิกจ้างเกิดขึ้น จะเห็นว่าปัญหาลามสู่รากหญ้าชัดเจนแล้ว”

ปัจจุบันโรงงานในโซนอยุธยาจะมีนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม รวมจำนวน 5 แห่ง มีผู้ประกอบการทั้งสิ้นราว 600 บริษัท ใช้แรงงานรวมกันราว 6-7 หมื่นคน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3525 วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2562