คลังรับ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากส่งออก

18 พ.ย. 2562 | 09:16 น.

คลังติดตามประเมินเศรษฐกิจใกล้ชิด หลังสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขล่าสุด พร้อมเร่งขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มในไตรมาส 3 ให้ส่งผลเต็มที่ในไตรมาส 4
พร้อมพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวที่ 2.4% ต่อปี ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัว 2.3% และทั้งปีคาดขยายตัว 2.6%นั้น ยอมรับภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อและสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้า ที่ไม่รวมทองคำหดตัวลง

คลังรับ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากส่งออก

นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทสูงในเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ชะลอลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ในส่วนของการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการของโรงงานเดิมพบว่า ในช่วง 1 ม.ค. – 12 พ.ย. 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงาน 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 36.3% สะท้อนว่า ภาพรวมการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัว และแม้ว่าในช่วง 1 ม.ค. – 12 พ.ย. 2562 จะมีกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงาน ที่ยื่นขอปิดกิจการ แต่การขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่มีถึง 2,889 โรงงาน มากกว่าปิดกิจการ 107% และโรงงานที่เปิดอยู่เดิมก็ยังมีการขยายกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวน 928 โรงงาน ขณะเดียวกัน ในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน 
 

ส่วนสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ายังประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวสูงถึง 7.2% เร่งขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัว 1.4% ในด้านการบริโภคภาคเอกชน รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ในไตรมาส 3 ปี 2562 ขยายตัวที่ 1.9% สูงขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ขยายตัว 1.5% ซึ่งสะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จะยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง ทั้งไตรมาส 4 ปี 2562 และปี 2563  ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชุดมาตรการด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้ง มาตรการ“ชิมช้อปใช้เฟส 1”มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง มาตรการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส. และมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย“ชิมช้อปใช้เฟส 2” และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และล่าสุด“ชิมช้อปใช้เฟส 3” รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่า จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2562 นี้เพื่อให้มาตรการต่างๆ ที่เริ่มในไตรมาส 3 สามารถส่งผลอย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาพัฒน์ชี้ รายได้ต่อหัวคนไทยลด 1,680 บาทต่อปี

อุตตมรับ จีดีพีปีนี้ ต่ำกว่าเป้า

คลังรับ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากส่งออก