ฤา(ธนาคารแห่ง)ประเทศไทย ต้องเป็นแพะรับบาปQEโลก?

14 พ.ย. 2562 | 04:00 น.

 

บทความ โดย ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล, ตระการ  ไตรพิเชียรสุข

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562

 

ในภาวการณ์ฤา(ธนาคารแห่ง)ประเทศไทยต้องเป็นแพะรับบาป QE โลก ค่าเงินบาทได้มีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี จาก 35 บาท มาเป็นประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการส่งออกไทย ที่เป็นรายได้หลักคิดเป็นสัดส่วน 70% ของ GDP (โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกสินค้าของไทยหดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะไตรมาส 3 ของปีนี้หดตัว 4.5%)

และเกิดภาวะหนี้ครัวเรือนสูงมากถึง 114.6% ต่อรายได้ประชาชาติ (ติดอันดับที่ 11 ของโลก เดือนกันยายน 2562) ซึ่งเป็นการบั่นทอนอำนาจซื้อภายในประเทศ และเมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ของไทยระยะยาว 10 ปี และ 15 ปี พบว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้ง 2 ระยะ มีอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ หรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น 6 เดือน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ซึ่งโดยทางทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมหลายภาคส่วน ถึงได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าทำงานตามสมควรแก่หน้าที่แล้วหรือไม่ อย่างไร? และเมื่อพิจารณาถึง 3 มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ เชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อไป

 

ฤา(ธนาคารแห่ง)ประเทศไทย  ต้องเป็นแพะรับบาปQEโลก?

 

ดังนั้นผู้เขียน จึงมีความเห็นว่า ควรจะชี้แจงถึงต้นเหตุของปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ไขที่น่าจะได้ผล อย่างเป็นรูปธรรมและทันต่อเหตุการณ์

นับจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 กลุ่มการค้าและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลก มีการใช้มาตรการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยปราศจากมาตรฐานทองคำมารองรับ หรือที่เรียกกันว่า (QE : Quantitative easing หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ)

ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2008 ในระยะแรกธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เริ่มซื้อพันธบัตรล็อตแรกมากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วยการซื้อประจำทุกเดือน เดือนละ 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการใช้มาตรการต่อเนื่องอีก 2 ระลอก หรือที่เราเรียกกันว่า QE2, QE3 และล่าสุด กำลังเริ่ม QE4

 

และขณะนี้กลุ่ม EU ก็กำลังใช้มาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อังกฤษก็เริ่มทำ QE มาตั้งแต่ปี 2009-2016 รวมเงินที่อัดฉีดทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านปอนด์ โดยญี่ปุ่น เริ่มทำ QE มาก่อนสหรัฐฯ เสียอีก

จากการใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงทำให้นักลงทุนและกองทุนข้ามชาติต่างๆ ในประเทศเหล่านี้ ย้ายเงินมาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา อาจกล่าวได้ว่า การทำ QE ทำให้เงินล้นจากระบบการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้ว มายังประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบการเงินและพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่มีมาตรฐาน

โดยเมื่อนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาพักไว้ และแลกเปลี่ยนเป็นสกุลบาท จึงทำให้เงินสกุลบาทเกิดการแข็งค่าอย่างไม่สมเหตุสมผล และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการนำกระดาษเปื้อนหมึกที่ไม่มีมาตรฐานทองคำรองรับ มาแลกเอาเงินสกุลบาทและทรัพยากรของประเทศไทย มาอยู่ในการครอบครองอย่างเสมือนว่ามีความชอบธรรม

สถานการณ์เช่นนี้ จะถือได้ว่าเป็นการปล้นกลางแดดระดับโลก ด้วยความที่ประเทศเหล่านี้มีขนาดใหญ่ ทำให้มีอิทธิพลทางด้านการเมือง ทหาร และเศรษฐกิจมาก ทำให้ประเทศที่ไม่ได้ร่วมในการทำ QE จำต้องอยู่ในสภาวะจำยอมมาตลอด 1 ทศวรรษ

 

ดังนั้น แทนที่เหล่านักวิเคราะห์และสถาบันต่างๆ จะรุมกดดันวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติอยู่แล้ว ควรจะมาสร้างกระแสการร่วมมือระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย และช่วยกันเสนอความเห็น คิดหาทางออกที่เหมาะสม ซึ่งการคัดง้างกระแสเงินไหล เข้าโดยตรง อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ 19 ธันวาคม 2549 ซํ้าสอง ที่นักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่พอใจที่ธปท.ในสมัยนั้น พยายามออกมาตรการสกัดค่าเงินบาทที่ไหลเข้ามาในประเทศอย่างผิดปกติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทย โดยร่วงไปกว่า 108 จุด

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าจากการทำ QE ทั่วโลกดังกล่าว ลำพังธนาคารแห่งประเทศ ไทยไม่น่าจะเป็นองค์กรที่จะรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าวเพียงองค์กรเดียว และเมื่อพิจารณาถึงขนาดของกลุ่มทุนทั่วโลกที่ดำเนินการตามนโยบายนอกตำรา เช่น การพิมพ์เงิน QE จึงเห็นสมควรว่ารัฐบาลไทยควรร่วมพิจารณาการทำ micro QE อย่างรอบคอบและมีข้อ จำกัดในการดำเนินการที่ชัดเจน

คือจัดทำเป็นครั้งต่อครั้ง ครั้งละหมื่นล้าน โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือเพื่อยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาท โดยกำหนดถึงกรอบค่าเงินบาทที่ยอมรับได้ (เช่น 30.50-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น) และใช้เงินดังกล่าวสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนและเกษตรกรภายในประเทศ

ทั้งนี้ก่อนเริ่มโครงการอาจจะส่งสัญญาณเพื่อโยนหินถามทางต่อประชาคมโลกก่อนที่จะใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งการทำจะต้องมีการประเมิน และติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงอัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินบาท, ปฏิกิริยาของสถาบันการเงินและระบบการเงินภายในประเทศ และในระดับนานาชาติ

อาจจะแก้กฎหมายเปิดช่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจมากขึ้น เพื่อให้ดำเนินนโยบายที่เหมาะสมกับรูปการณ์ในขณะนั้นได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

 

ฤา(ธนาคารแห่ง)ประเทศไทย  ต้องเป็นแพะรับบาปQEโลก?