ย้อนรอยแบงก์ลดดอกเบี้ยสนองกนง.

09 พ.ย. 2562 | 05:50 น.

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นำร่องลดดอกเบี้ยเป็นเจ้าแรก เพื่อขานรับทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 6.87% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% ซึ่งมีผลไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

และมีอีกหลายแบงก์ที่เกาะกระแส 11.11 มาใช้เป็นวันดีเดย์ให้ดอกเบี้ยใหม่มีผลบังคับใช้ ทั้งธนาคารออมสิน ที่ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นตํ่าประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงจาก 6.87% เหลือ 6.745% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นตํ่าประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงจาก 6.50% เหลือ 6.375% แต่ชะลอปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากไปจนถึงสิ้นปี 2562 ทำให้ผู้ฝากเงินทุกประเภทจะได้รับผลตอบแทนอัตราเท่าเดิม จากนั้นจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.125% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563

ตามมาด้วย 2 แบงก์ใหญ่ คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 6.00% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนดอกเบี้ยลง ซึ่งล่าสุดนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ออกมาบอกว่า อยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเช่นกัน หลังจากได้ลดดอกเบี้ย MLR ไปก่อนหน้า

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย เองก็ประกาศแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย เพื่อช่วยลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% จากปัจจุบัน 6.25% เป็น 6.00% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าใช้เป็นส่วนใหญ่ และปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก สำหรับลูกค้านิติบุคคลลง 0.07%-0.25% โดยยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาในขณะนี้

ปิดท้ายด้วยธนาคารรัฐอย่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ขานรับนโยบายรัฐ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไป และ SMEs เทียบเท่า MRR ของธนาคารพาณิชย์เหลือ 6.00% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ลดต้นทุนดำเนินธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562

ย้อนรอยแบงก์ลดดอกเบี้ยสนองกนง.