ผักผลไม้โกยเงินล้าน อานิสงส์แล้งขยับราคารายวัน ส้มพรวด10บาท/กก.

02 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
ตรวจแถวสินค้าเกษตร ใครได้-ใครเสียจากวิกฤติภัยแล้ง วงการเผย "ข้าวโพดหวาน สับปะรด ยางพารา ฟาร์มหมู "รับอานิสงส์ผลผลิตวูบ ดันราคาพุ่ง ยางดีดขึ้นแต่เกษตรกรไม่มีของขาย ขณะข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ถั่วเขียว คุณภาพผลผลิตแย่ แถมเจอของนอกตีตลาด ถูกกดราคาซื้อ ขณะลามผู้บริโภคราคาผัก ผลไม้ดาหน้าปรับ ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ส้มเขียวหวาน ขึ้นวันเดียว 5-10 บาท/กก.

จากวิกฤติภัยแล้งรอบ 20 ปีที่ลุกลามขยายวงส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนมากขึ้นทุกขณะ ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เกาะติดรายงานสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องนั้น ในฉบับนี้ได้ตรวจสอบถึงผลกระทบของภัยแล้งต่อราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศ พบมีทั้งได้และไม่ได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามหลักดีมานต์ และซัพพลายที่ลดลงจากภัยแล้ง

 ข้าวโพดหวาน-สับปะรดเฮ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่าจากภัยแล้งมีผลให้วัตถุดิบในการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องเพื่อส่งออกลดลงไป 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในพื้นที่แหล่งปลูกข้าวโพดหวานสำคัญในภาคเหนือ เช่น สุโขทัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย และในภาคกลาง เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ที่มีแหล่งน้ำสำรองขณะนี้สามารถปลูกข้าวโพดหวานได้จริงเพียง 60% ของพื้นที่ ส่วนพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำสำรองไม่สามารถปลูกได้แล้ว ซึ่งจากผลผลิตที่ลดลงมีผลให้ราคารับซื้อข้าวโพดหวนของโรงงานล่าสุดเฉลี่ยที่ 5-7 บาท/กิโลกรัม ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ แต่อีกด้านหนึ่งไปเพิ่มต้นทุนให้โรงงาน แต่ไม่สามารถปรับราคาส่งออกได้ เพราะกำลังซื้อของโลกในภาพรวมลดลง หากปรับราคาจะขายยาก

"ในส่วนของสับปะรด เป็นสินค้าเกษตรอีกรายการที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดราคารับซื้อของโรงงานสับปะรดกระป๋องเฉลี่ยที่ 10.50-12 บาท/กิโลกรัมถือเป็นราคาที่ดีมากที่เกษตรกรได้รับ จากปี 2558 เฉลี่ยทั้งปีราคาอยู่ที่ 10.50 บาท/กิโลกรัม"

 หมูหน้าฟาร์มขยับ 2 บาท/กก.

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า จากภัยแล้งที่มีผลให้สุกรกินอาหารน้อยลง และใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น รวมถึงมีโรคทางเดินหายใจ (PRRS) และโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร(PED) ระบาดในบางพื้นที่ มีผลทำให้การเลี้ยงสุกรมีความเสียหายเพิ่มขึ้น ปริมาณออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้เวลานี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขายได้ราคาสูงขึ้นเฉลี่ย 1-2 บาท/กิโลกรัม จากเดิมราคาเฉลี่ยที่ 65 บาท เป็น 66-67 บาท/กิโลกรัม มีแนวโน้มราคาจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยตามภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกเนื้อหมูในท้องตลาดยังไม่ปรับขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง

 ยางพาราขยับแต่ของน้อย

ขณะที่ในส่วนของยางพาราที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ปิดกรีดยางแล้วจากเข้าฤดูแล้ง ยางผลัดใบ ยังเหลือเพียงภาคใต้ที่ยังพอกรีดยางได้ จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานตลาดกลางยางพารา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ณ วันที่ 29 มีนาคม 2559 ในส่วนของยางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่นราคาอยู่ที่ 46.25 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นจากปลายสัปดาห์ก่อนที่ราคาเฉลี่ยที่ 45.70 บาท/กิโลกรัม และน้ำยางสดอยู่ที่ 50.50 บาท/กิโลกรัม จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 49.50 บาท/กิโลกรัม

ส่วนราคาประมูล ณ ตลาดกลางฯ อำเภอหาดใหญ่ วันที่ 29 มีนาคม ในส่วนของยางแผ่นดิบอยู่ที่ 48.26 บาท/กิโลกรัม สูงกว่าช่วงปลายสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 51.61 บาท/กิโลกรัม ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 52.43 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นกว่าปลายสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 51.61 บาท/กิโลกรัม ผลจากผลผลิตที่ลดลงในฤดูยางผลัดใบ และสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า

 ไก่เนื้อราคาทรงตัว

ขณะที่นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า ผลผลิตไก่เนื้อของไทยในภาพรวม ณ เวลานี้ ยังเฉลี่ยที่ 30-31 ล้านตัว/สัปดาห์ ซึ่งจากภัยแล้งที่ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงจากไก่โตช้า และใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น รวมถึงบางฟาร์มต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ บางรายต้องเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม รวมถึงมีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และค่าอื่นๆ แต่ราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มยังเฉลี่ยที่ 36-37 บาท/กิโลกรัม ทั้งที่ในความเป็นจริงน่าจะขายได้ที่ 38-39 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง

"ช่วงนี้ไก่ในตลาดสดขายฝืด อาจเป็นเพราะคนประหยัดเงินไว้กินไว้เที่ยวช่วงสงกรานต์ ซึ่งโรงเชือดไก่จะหยดยาว 4-5 วัน ไก่คงขายดีขึ้น และมีความคึกคักมากขึ้น ราคาไก่ที่เกษตรกรได้รับน่าจะดีขึ้น และในช่วงไตรมาสที่ 3-4 จากการส่งออกสินค้าไก่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไฮซีซัน"

 ข้าวผลผลิตแย่-ถูกกดราคา

ด้านนายปัญญา จุลอำพันธ์ นายกสมาพันธ์เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของของกรมชลประทานมีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรับทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานทั่วประเทศที่รอการเก็บเกี่ยว ณ ขณะนี้ประมาณ 2 ล้านไร่ ในจำนวนนี้สมาพันธ์ได้สำรวจตัวเลขจริงมีการทำนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดรวม 1.7 ล้านไร่ โดยข้าว 2 ล้านไร่นี้จากที่ตรวจสอบจากสมาชิก คาดจะได้รับความเสียหายเกิน 90% จากข้าวขาดน้ำในช่วงออกรวง ทำให้เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์ และจะถูกราคาซื้อจากโรงสีตามสภาพของข้าว

"ที่ได้คุยกับโรงสี ขณะนี้รับซื้อข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% เพียง 6.5 พันบาทต่อตัน ทั้งที่ผลผลิตลดราคาข้าวน่าจะสูงขึ้นตามหลักดีมานต์-ซัพพลาย แต่ราคาก็ลดลง เป็นผลจากผลผลิตข้าวเสียหายจากภัยแล้ง ขณะที่มีพ่อค้านำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาที่ราคาข้าวเปลือกถูกมากที่ประมาณ 4 พันบาทต่อตัน ส่วนข้าวเปลือกเวียดนามก็แค่ 4.8 พันบาทต่อตัน"

 ถั่วเหลืองถูกลอยแพ

ขณะเดียวกันในส่วนของถั่วเหลืองพืชใช้น้ำน้อยที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกเพื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง โดยประกาศจะช่วยหาตลาดให้ และประกันราคารับซื้อ 35-40 บาท/กิโลกรัม แต่จากที่ตรวจสอบผู้ค้าถั่วเหลือง และโรงงานผลิตวุ้นเส้นที่รับซื้อแล้ว พบว่าราคารับซื้อจริงเพียง 24-28 บาท/กิโลกรัม ขณะที่มีการนำเข้าถั่วเขียวจากลาวที่มีราคาถูกกว่าเพียง 14-15 บาท/กิโลกรัม อีกด้านหนึ่งจากภัยแล้งถั่วเขียวขาดน้ำเกษตรกรได้ผลผลิตไม่เกิน 100 กิโลกรัม/ไร่จากถั่วแคระแกรน จากปกติหากน้ำอุดมสมบูรณ์เฉลี่ยจะได้ผลผลิต 200-300 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้เกษตรกรขาดทุน และยังเป็นหนี้สินต่อ

"ภาพรวมเกษตรกรที่ได้รับแจกเมล็ดถั่วเขียวจากรัฐบาลได้ลงมือปลูกไปแล้ว 60% อีก 40% ยังไม่ปลูกจากขาดน้ำ ซึ่งผู้ที่ปลูกไปแล้วก็ประสบกับปัญหาข้างต้น ส่วนที่ยังไม่ปลูกเมล็ดพันธุ์หากเก็บไว้เกิน 1 เดือนครึ่งก็จะมีปัญหามอดกินทำให้เกิดความเสียหายตามมา"

 ราคาหัวมันสดต่ำกว่าทุน

"ผู้สื่อข่าว"รายงานการลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อศึกษาดูงานด้านการเกษตรระหว่างวันที่ 27-28 มีนาคม 2559 ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการร้องเรียนจากนายพรชัย อำนวยทรัพย์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้ราคามันสำปะหลังตกต่ำมาก สวนทางกับผลผลิตที่ลดลงจากภัยแล้ง โดยเกษตรกรขายหัวมันสดได้เฉลี่ยที่ 1.05 บาท/กิโลกรัม จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ประเมินต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเฉลี่ยที่ 1.90 บาท/กิโลกรัม ทำให้ขาดทุน

 ผัก ผลไม้ดาหน้าปรับราคา

ขณะที่ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้ตรวจสอบข้อมูลของฝ่ายติดตามและประเมินภาวะตลาดสินค้าเกษตร ของกรมการค้าภายใน ถึงราคาพืชผัก และราคาสินค้าเกษตรขายปลีกในเขตกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 29 มีนาคม 2559 พบสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ได้แก่ ส้มเขียวหวาน(สายน้ำผึ้ง) เบอร์ 6 จากวันที่ 28 มีนาคมอยู่ที่ 120-130 บาท/กิโลกรัม เพิ่มเป็น 130-140 บาท/กิโลกรัม หรือปรับขึ้น 10 บาท /กิโลกรัม รวมถึงส้มเขียวหวานเบอร์ 5 ก็ปรับขึ้นอีก 10 บาท/กิโลกรัม และเบอร์ 4 ปรับขึ้น 5-10 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาล สินค้าออกสู่ตลาดลดลง

ส่วนผักกาดหอม ราคาปรับเพิ่มจาก 25-30 บาท/กิโลกรัม เป็น 30-35 บาท/กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 5 บาท จากช่วงนี้ผลผลิตลดลง ,ถั่วฝักยาวจาก 70-75 บาท/กิโลกรัม เพิ่มเป็น 75-80 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 5 บาท จากผลผลิตอยู่ในช่วงปลายรุ่น และสภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีผลให้ปริมาณผลผลิตช่วงนี้มีออกสู่ตลาดลดลง เป็นต้น

 "ฉัตรชัย" ย้ำน้ำพอใช้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้บูรณาการแก้ไขวิกฤติภัยแล้งอย่างดีที่สุดในทุกวิถีทาง และยืนยันว่าน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจะมีเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคม2559 ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือประชาชนประหยัดการใช้น้ำในครัวเรือน อย่างน้อย 20%

สำหรับการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแล้ว ได้แก่ การขุดเจาะบ่อบาดาลในภาพรวม ซึ่งตามแผน 6.92 พันบ่อ ดําเนินการแล้ว 2.68 พันบ่อ คงเหลือ 4.23 พันบ่อ การช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558- 27 มีนาคม 2559 ของทุกหน่วยงาน แบ่งเป็น รถน้ำ รวม 546.07 ล้านลิตร ทางการสูบน้ำ 108.89 ล้าน ลูกบาศก์เมตร การปฏิบัติการฝนหลวง – ช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 27 มีนาคม 2559 ขึ้นบิน 24 วัน 250 เที่ยวบิน มีฝนตก 31 จังหวัด

"สำหรับกรณีการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นกระทรวงเกษตรฯ ขอย้ำว่าไม่มีนโยบายที่จะห้ามประชาชนเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์แต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการประหยัดน้ำให้มากที่สุด ซึ่งอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีการส่งน้ำตามแผนการใช้น้ำที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559