ภาคผลิตอุตฯยังโงหัวไม่ขึ้น เอ็มพีไอ 2 เดือนติดลบ 2.6% สะท้อนไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้น

04 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
สศอ.เผยภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัว เอ็มพีไอ ม.ค.-ก.พ.ปีนี้ ยังโงหัวไม่ขึ้นติดลบที่ 2.6% ชี้สะท้อนเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ผู้ประกอบการไม่กล้าสั่งวัตถุดิบผลิตสินค้า กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ฉุดรายได้เกษตรกรหายไป มอง 5 อุตสาหกรรมที่ยังต้องเผชิญความเสี่ยง รถยนต์ เหล็ก เครื่องแต่งกาย อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปและถนอมสัตว์น้ำ

[caption id="attachment_42156" align="aligncenter" width="700"] ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิต[/caption]

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม-กุมภาพันธ์2559) สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับหลายสำนักที่ได้มีการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีเอ็มพีไอในช่วงดังกล่าวยังติดลบที่ระดับ 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ติดลบที่ 1.6% และมกราคมติดลบที่ 3.5% ส่งผลให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.7%

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อมาผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศและส่งออกในช่วง 2 เดือนติดลบที่ระดับ 16.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องจากเดือนมกราคมอยู่ที่ 16.9% และเดือนกุมภาพันธ์ติดลบที่ 15.4%

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลอยู่ มาจากปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวสำคัญที่ฉุดกำลังการบริโภคในประเทศลดลง รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบของภาคการเกษตรในการผลิต ประกอบกับประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย เป็นการฉุดกำลังซื้ออีกทางหนึ่ง รวมถึงภาวะการส่งออกที่ยังไม่ดีมากนัก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ หากมาพิจารณารายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้เอ็มพีไอปรับตัวลดลงใน 5 อันดับแรก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะมาจากผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ที่มีการผลิตลดลง 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกลดลง โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกากลางและใต้ ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศลดลง เนื่องจากปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรขาดรายได้ ตลาดรถยนต์ในประเทศชะลอตัว

ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง 15.19 % เนื่องจากราคาของวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้จีนชะลอการส่งออกวัตถุดิบ เช่น เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เศษเหล็ก ทำให้ผู้ประกอบการเหล็กของไทยขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับเหล็กนำเข้าจากจีนมีราคาถูกกว่า

นายศิริรุจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย การผลิตลดลง 17.29 % เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผู้บริโภคกำลังซื้อลดลงประกอบกับลูกค้าบางรายได้ลดกำลังซื้อ อีกทั้งผู้ผลิตบางรายได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว

ขณะที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปและถนอมสัตว์น้ำ การผลิตลดลง 8.61 % เนื่องจากมีการปรับนโยบายของผู้ผลิตบางรายในการผลิตสินค้าอาหาร โดยเฉพาะกุ้งแช่แข็ง หากกุ้งไม่ได้ขนาดจะผลิตเพื่อการจำหน่ายเท่านั้น จะไม่ผลิตเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลัง

รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตปรับตัวลดลง 0.87% เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับการผลิตสินค้าสำเร็จรูป เพื่อตอบสนองประเทศชั้นนำในสหภาพยุโรปยังชะลอตัว

นายศิริรุจ กล่าวเสริมอีกว่า อย่างไรก็ตาม มองว่าตัวเลขเอ็มพีไอในเดือนมีนาคมนี้ น่าจะปรับเป็นบวกได้ ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นทุกปี ที่มาจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าสต๊อกไว้ เพื่อรองรับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในขณะที่ สศอ.จะยังคาดว่าว่าเอ็มพีไอปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 2.5 % และจะส่งผลให้จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ในระดับ 2% เนื่องจากยังมีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใสเติบโตในระดับที่ดีอยู่ เช่น อาหาร เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559