ประมูลคลื่น 900 รอบใหม่ กสทช.จะว่าอย่างไร?

03 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
กรณี พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจส โมบาย บรอดแบนด์ บริษัทลูกของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์ เนชั่นแนล บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ไม่สามารถชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรก 8.04 พันล้าน พร้อมแบงก์การันตีอีก 7.2 หมื่นล้านบาทให้ กสทช. ภายในวันที่ 21 มีนาคม ตามกำหนด กำลังกลายเป็นฝันร้ายของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4 จี

หลังเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนในโลกมาก่อน นอกจาก กสทช.และ กทค.ต้องหาข้อกฎหมายมาบังคับให้ "แจส" ต้องรับผิดชอบ มากกว่าเงินหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาทตามที่บริษัทออกมากล่าวอ้าง เพราะผลเสียหายจากการเบี้ยวจ่ายเงินประมูลกระจายวงกว้างกว่าที่คิด แต่โจทย์ที่ใหญ่กว่า คือจะวางเกณฑ์การประมูลครั้งใหม่ อย่างไร? เพื่อความยุติธรรมกับผู้เล่นทุกๆ ราย และ ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ข้อแรก การประชุมบอร์ด กทค.สัปดาห์ที่แล้วมีมติ กำหนดราคาประมูล ตั้งต้นที่ 7.56 หมื่นล้านบาท (วงเงินที่แจสเสนอชนะการประมูล) แต่ถ้าสาธารณชนมีความเห็นเป็นอื่น ราคาประมูลปรับลดได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 7.01 หมื่นล้านบาท (วงเงินที่ดีแทคเสนอก่อนถอนตัว)

ประเด็น "ราคาประมูลตั้งต้น" ผู้เล่นมีมุมมองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ลาร์ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ร่อนแถลงการณ์คล้อยหลังบอร์ด กทค.มีมติเรื่องเกณฑ์ ราคาประมูลตั้งต้นใหม่ไม่นานว่า ราคาประมูลคลื่น 900 ตั้งต้นควรกลับไปที่จุดเดิม 1.608 หมื่นล้านบาท พร้อมเสนอแบบมีเงื่อนไขไว้ด้วยว่า ผู้ชนะประมูลคลื่น 900 รอบที่แล้ว ไม่ควรมีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่เพราะได้คลื่นไป 1 ใบอนุญาตแล้ว

ถึงซีอีโอดีแทคไม่ระบุชื่อแต่คนทั่วไปก็รู้ว่าหมายถึง "ทรู" บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมิวนิเคชั่นฯ ชนะการประมูลคลื่น 900 ชุดที่ 2 ด้วยราคา 7.62 หมื่นล้านบาท และชำระงวดแรก 8.04 พันล้านบาทพร้อมยื่นหนังสือค้ำประกันเงินประมูล 7.303 หมื่นล้านให้ กสทช.เรียบร้อยไปแล้ว

ต้นสัปดาห์กลุ่มทรูออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ "กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีการประมูลอย่างโปร่งใส" โดยเสนอว่า จัดประมูลใหม่ เพื่อผู้ชนะประมูลรายใหม่ มีราคาต้นทุนที่ "ทรู" รับภาระอยู่ ทั้งนี้เพื่อความ"เสมอภาค" และ 2 ราคาประมูล ควรเริ่มต้นที่เท่ากับราคาที่แจสชนะการประมูล (7.56 หมื่นล้านบาท) กรณีราคาชนะประมูลต่ำกว่า 7.56 หมื่นล้านบาท กสทช.ควรปรับลดราคาค่าคลื่นของ ทรูให้ลงมาเท่ากับราคาที่ชนะการประมูลคลื่น 900 เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบแก่กันในการแข่งขันทางการค้า

กสทช.มีเวลา 2 เดือนเศษสำหรับจัดประมูลคลื่น 900 รอบใหม่ปลายเดือนมิถุนายน นี้ แม้มีข้อเสนอหลากหลายจากหลายฝ่าย โดยอ้างการแข่งขันเสรีและความเป็นธรรมทั้งสิ้น แต่เพื่อความโปร่งใส เกณฑ์การประมูลรอบใหม่ ควรเปิดกว้างให้ผู้เล่นทุกราย และไม่เปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ จากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559