IMFเสนอปรับ VAT เป็น10% มองเศรษฐกิจไทยปี59 เริ่มผงกหัว

04 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 โดยคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (2016 Article IV Consultation) โดยนางแอนนา กอร์บาโชหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงิน กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัว 3% และ 3.2% ในปี 2560 มาจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการลงทุนภาครัฐยังจะเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะกลับเป็นบวกได้ในปีนี้

ขณะที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จะมาจากปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศคู่ค้า และความผันผวนของตลาดการเงินโลกอาจก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและทำให้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ การเบิกจ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งหากล่าช้ากว่าคาดจะกระทบอุปสงค์ในประเทศได้ และหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องนานกว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้ที่แท้จริงจะปรับสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ใน ระดับสูงอาจส่งผลต่อการบริโภค และในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงอาจส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้

อย่างไรก็ดี พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งของไทยจะเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเสนอให้ทางการไทยดำเนินการใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเจริญเติบโตทั้งระยะสั้นและระยะยาว 2.รักษาเสถียรภาพการเงิน และ 3.เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการดำเนินโยบายการคลังแบบผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยมองว่าแผนการลงทุนของภาครัฐมีความจำเป็นต่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เสนอให้ทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10% เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนแล้ว

สำหรับนโยบายการเงิน อาจผ่อนคลายได้เพิ่มเติม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและช่องว่างการผลิต (output gap) ยังติดลบ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นจะเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ดี ทางการสามารถพิจารณาเข้าดูแลได้ตามความเหมาะสม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559