อิตัลไทยเปิดศึกค้าปลีกริมน้ำ แจ้งเกิด ‘RCB’ ศูนย์การค้าอาร์ต&แอนทีกใหญ่สุดในอาเซียน

01 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
กลุ่มอิตัลไทยไฟเขียว รุกค้าปลีกริมน้ำ เปิดตัว "ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก" ศูนย์การค้าอาร์ต & แอนทีกใหญ่สุดในอาเซียน เผยทุ่มงบกว่า 280 ล้านพลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ชูจุดขายร่วมสมัย คลาสสิก รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนัก มั่นใจหลังเปิดตัว ก.ค. 59 รายได้โตพรึบ 25%

นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยา ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือบริษัทอิตัลไทยกรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (RCB) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ด้วยนโยบายของกลุ่มบริษัท อิตัลไทย ที่ต้องการเป็นเลิศด้านงานบริการ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก แห่งนี้เป็นจุดต้อนรับลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก บริษัทจึงมุ่งเน้นการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรเพื่อให้เกิดการค้าที่เกื้อหนุนกันให้กับกลุ่มบริษัทอิตัลฯ ไทยในอนาคต

โดยบริษัทแม่ให้ความสำคัญและลงทุนพัฒนาในธุรกิจศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เพื่อให้เป็นศูนย์การค้าเฉพาะทางด้านอาร์ต แอนทีก และเป็นศูนย์ศิลปะและโบราณวัตถุแห่งแรกในเอเชียที่ผสานสอดรับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมอย่างลงตัว กลายเป็นจุดเด่นให้ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกมีความแตกต่างจากศูนย์การค้าอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธุรกิจมีการแข่งขันที่สูง มีทั้งคู่แข่งที่มีตัวตน คือร้านค้าต่างๆ ที่มีอาคารสถานที่ และคู่แข่งที่ไร้ตัวตน คือ การค้าขายออนไลน์ ที่สามารถเปิดขายสินค้าได้ 24 ชั่วโมง และมีข้อได้เปรียบที่มีภาพกราฟิกสวยงาม แต่จุดเด่นของศูนย์การค้าคือ ความมีเสน่ห์ ที่ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามา ซึ่งในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาศูนย์การค้าริมน้ำทยอยเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของศูนย์การค้าในเมืองมีการกระจุกตัวเกินไป การแข่งขันสูงมาก ในขณะที่ร้านค้าในแต่ละศูนย์ มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นทางเลือกในการขยายธุรกิจศูนย์การค้า จึงขยับออกไปทางกรุงเทพรอบนอกมากขึ้น เพราะโอกาสในการหาที่ดินแปลงใหญ่มีความเป็นไปได้ง่ายกว่า และคู่แข่งขันก็น้อยกว่า ใครไปก่อนย่อมได้เปรียบ และการขยายธุรกิจมายังริมแม่น้าเจ้าพระยา ก็เป็นทางเลือกที่มีจุดขายที่ดีที่สุด

ทั้งนี้เชื่อว่าในโครงการศูนย์การค้าริมน้ำจะยังทยอยเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธน หลังจากที่โครงการศูนย์การค้าริมน้ำขนาดใหญ่ที่มีการประกาศเปิดตัวไปแล้ว แต่จะเป็นโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่เนื่องจากข้อจำกัดในการหาแปลงที่ดินที่เหมาะสมและการจราจรเข้าถึงสะดวกเป็นไปได้ยาก

นายวรพงศ์ กล่าวว่า ใช้งบลงทุนในการตกแต่งและปรับปรุงศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกรวม 280 ล้านบาท เพื่อปรับลุกให้เป็นศูนย์การค้าร่วมสมัยสไตล์คลาสสิก พร้อมกับการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่ ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และไดนิ่ง โดยชูจุดขายริมแม่น้ำเจ้าพระยา

"การรีโนเวตครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ใหญ่สุดในรอบ 30 ปี โดยครั้งนี้มีการจัดวางผังพื้นที่ใหม่ ปรับพื้นที่ภายในใหม่ทั้งหมด ทั้งด้านหน้า ด้านในและฝั่งริมน้ำ แต่ยังคงความมีเสน่ห์ของริเวอร์ ซิตี้เอาไว้"

สำหรับศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก มีพื้นที่ให้บริการ 4.7 หมื่นตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ขายและบริการภายใน 4.6 หมื่นตร.ม. และพื้นที่ริมน้ำอีก 1.4 พันตร.ม. ภายในมีร้านค้าจำนวน 160 ร้าน แบ่งเป็นร้านศิลปะและวัตถุโบราณ 60%, สินค้าไลฟ์สไตล์ 20% อาทิ เครื่องหนัง ผ้าไหม ตัดสูต ร้านเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน, ร้านอาหารและคาเฟ่ 20% ขณะที่กลุ่มเป้าหมายหลักของ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% และลูกค้าชาวไทย 30% โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 3.5 – 4.5 พันคน หลังจากเปิดให้บริการครบเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2559 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 25%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559