IFSปักธงไทยเป็นยุทธศาสตร์ เชื่อศก.ดิจิตอลหนุนองค์กรทรานส์ฟอร์ม/ดันอีอาร์พีโต10%

02 เม.ย. 2559 | 07:00 น.
ไอเอฟเอส วางไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศยุทธศาสตร์ หลังนโยบายรัฐบาลผลักดันดิจิตอลอีโคโนมี หนุนธุรกิจเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิตอล คาดซอฟต์แวร์อีอาร์พีไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เดินหน้าลงทุนเสริมบุคลากร ตั้งเป้าลูกค้าเพิ่มเท่าตัวภายใน 3 ปี

นายศรีดาราน อรูมูแกม รองประธานบริษัทไอเอฟเอส ภูมิภาคอาเซียน ผู้ผลิตซอฟต์แวร์บริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร หรือ อีอาร์พีเปิดเผยว่าบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในไทยต่อเนื่อง โดยไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไอเอฟเอสในภูมิภาคนี้ เนื่องจากไทย มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจเข้าสู่ดิจิตอล ภายใต้นโยบายดิจิตอลอีโคโนมี ขณะที่ประเมินว่าตลาดซอฟต์แวร์ทางด้าน บริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร หรือ อีอาร์พีของไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่คาดการณ์ว่าปีนี้องค์กรธุรกิจของไทยมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

ทั้งนี้ทิศทางธุรกิจของไอเอฟเอสในไทยคือการนำซอฟต์แวร์และบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิตอล เข้าไปช่วยในการเปลี่ยนแปลง หรือ ทรานส์ฟอร์ม ธุรกิจของลูกค้าจากระบบเดิมสู่ดิจิตอล โดยผลิตภัณฑ์หลักที่สำคัญ คือ ซอฟต์แวร์ไอเอฟเอส แอพพลิเคชัน 9 เวอร์ชันใหม่ล่าสุด ที่มีโซลูชันบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร หรือ อีอาร์พี ครอบคลุมความต้องการธุรกิจ ทั้งไฟแนนซิ่ง การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริการกระบวนการผลิต และการบริหารสินทรัพย์ ที่องค์กรสามารถเลือกลงทุนเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของธุรกิจ

ทั้งยังรองรับการทำงานครอบคลุมการทำงานทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยในการทำตลาดบริษัทจะให้ความสำคัญกับทุกอุตสาหกรรม ทั้งโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิต การเงินการธนาคาร ค้าปลีก และธุรกิจสุขภาพ ซึ่งปีนี้จะมีการลงทุนบุคลากรเพิ่มเพื่อเข้าไปถึงทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดสัมมนา การทำการตลาด สร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทั้งนี้คาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เป็นเท่าตัวภายในระยะเวลา 3 ปี จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าในไทย 50 ราย

นายศรีดาราน กล่าวต่อไปอีกว่า ไทยมีความพร้อมในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอล โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ 1. โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย รวมไปถึง 4จี โดยรัฐบาลมีโครงการลงทุนขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ ลงไปยังถึงระดับหมู่บ้าน และโครงการลงทุน ขยายอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ รวมถึงเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสนับสนุนให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล

2. อี-บิสิเนส ที่ภาคธุรกิจเริ่มตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเข้าสู่ดิจิตอล อาทิ ภาคขนส่ง มีการนำเทคโนโลยีระบุพิกัด หรือ GPS มาใช้ในการติดตามการขนส่งสินค้า , ภาคธนาคาร มีการลงทุนช่องทางบริการผ่านออนไลน์แบงกิ้ง , ภาคการผลิต ที่มีการนำไอทีมาใช้เพื่อการออกแบบ และนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาช่วยในการผลิต , ภาคการศึกษา มีการ นำเทคโนโลยีอี-เลิร์นนิ่ง และห้องเรียนเสมือนจริง หรือ เวอร์ชวลคลาสรูม มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน , ภาคบริการสุขภาพ มีการลงทุนเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษา หรือ ติดตามอาการคนไข้ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสื่อ และทีวี ที่มีการลงทุนเทคโนโลยีมาบริหารจัดการโฆษณา ออนไลน์ และ 3.อี-คอมเมิร์ซ ที่ขณะนี้มีออนไลน์สโตร์เกิดขึ้นในไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 ร้านค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559