คลอดมาตรการดึงทุนเกินพันล.

21 ก.ย. 2562 | 14:50 น.

 

บอร์ดบีโอไอไฟเขียว มาตรการเร่งรัดการลงทุน รองรับนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานผลิต หวังดึงทุนขนาดใหญ่เกิน 1 พันล้าน ตั้งโรงงานจริงในปี 64 พร้อมหนุนผู้ประกอบการพัฒนาทักษะบุคลากร นำค่าใช้จ่ายมาขยายวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงถึง 2 เท่า

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรการ Thailand Plus Package ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานรับผิดชอบ ใน 7 ด้านไปแล้ว โดยหวังว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยให้มากขึ้น

ล่าสุดในการประชุมบอร์ดบีโอไอ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ได้อนุมัติมาตรการเร่งรัดการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการย้ายฐานและกระตุ้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาทักษะบุคลากร สามารถนำค่าใช้จ่ายมาขยายวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงถึง 2 เท่า หรือกรณีการลงทุนตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) เปิดเผยว่า บอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนตาม Thailand Plus Package เพิ่มเติม 2 ด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดให้กิจการเป้าหมายในกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ที่ตั้งนอกกรุงเทพมหานคร ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 และต้องมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564

รวมทั้ง เห็นชอบมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอบรมพนักงานและมีส่วนร่วมในการพัฒนานักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งสถานฝึกฝนวิชาชีพหรือสถาบันการศึกษาในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม (STEM) ระดับสูง

ทั้งนี้ แบ่งเป็นมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรม ให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรไปรวมคำนวณในวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่กำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่ายขั้นตํ่า ในกรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือฝึกงาน เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่นักศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในรูปแบบทวิภาคี สหกิจศึกษา หรือ Work-Integrated Learning จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

ส่วนกรณีที่ 2 ผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือส่งพนักงานไปอบรมหลักสูตรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมายและได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

อีกทั้ง มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการ (บริษัทแม่) ที่ดำเนินธุรกิจอื่น ซึ่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม หากลงทุนจัดตั้งสถานศึกษา หรือสถานฝึกฝนอาชีพ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาด้าน STEM ระดับสูง และได้รับการเห็นชอบจากอว. จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี ในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนที่ใช้ลงทุนตั้งสถาบัน ส่วนสถาบันฝึกฝนอาชีพ หรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้น ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติเพิ่มอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี สำหรับโครงการใหม่ และ 5 ปี สำหรับโครงการเดิม และข้อผ่อนปรนเป็นพิเศษอื่นๆ ที่แตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป เช่น ลดหย่อนอากรขาเข้า 90% ของอัตราปกติ สำหรับวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นต้น

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

คลอดมาตรการดึงทุนเกินพันล.