เถ้าควันไฟป่าทำคุณภาพอากาศ 3 ชาติอาเซียน ‘เลวร้ายที่สุดในโลก’

21 ก.ย. 2562 | 01:01 น.

คุณภาพอากาศในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ตรวจวัดได้ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับเลวร้ายที่สุดในโลก เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ไฟป่าบนเกาะบอร์เนียวและสุมาตราของอินโดนีเซียที่ไหม้ลุกลามนานกว่า 2 สัปดาห์ทำให้เกิดหมอกควันเถ้าไฟลอยขึ้นปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างเห็นได้ชัดทั้งในเมืองหลวงจาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ รวมทั้งจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย

เถ้าควันไฟป่าทำคุณภาพอากาศ 3 ชาติอาเซียน ‘เลวร้ายที่สุดในโลก’

ไฟป่าที่เกิดจากการลักลอบเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรไม่เพียงสร้างปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนให้กับอินโดนีเซียแต่ยังกระทบถึงประเทศเพื่อนบ้าน โรงเรียนนับพันๆแห่งทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซียถูกสั่งปิดเนื่องจากคุณภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลกระทบต่อนักเรียนกว่าล้านคน นอกจากนี้ หมอกเถ้าควันไฟที่หนาทึบจนเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น ยังทำให้จำเป็นต้องมีการยกเลิกหรือเลื่อนหลายสิบเที่ยวบิน รานยงานระบุว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรงจำนวนนับพันๆราย


 

เถ้าควันไฟป่าทำคุณภาพอากาศ 3 ชาติอาเซียน ‘เลวร้ายที่สุดในโลก’

นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้ก่อไฟป่าครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรบริษัท หากตรวจพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าไฟป่าครั้งนี้จะสร้างความเสียหายเหมือนเมื่อครั้งอดีตที่เคยเกิดไฟป่าในปี 2558 สร้างความเสียหายรุนแรงทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเผาผลาญพื้นที่ป่าจำนวนรวม 2.6 ล้านเฮคตาร์ (กว่า 16.2 ล้านไร่)

 

ข้อมูลสถิติคุณภาพอากาศจาก IQAir AirVisual พบว่า เมืองหลวงและเมืองใหญ่ในอาเซียน ไก้แก่ กัวลาลัมเปอร์และกูชิง (ในมาเลเซีย) สิงคโปร์ และจาการ์ตา อยู่ในระดับเลวร้ายที่สุดในโลก ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ (เอ็นอีเอ) ที่ระบุว่า ค่าดัชนีมาตรฐานในการวัดระดับมลพิษในอากาศตรวจวัดได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สูงถึง 112 ซึ่งบ่งบอกว่าเข้าขั้นอันตรายต่อสุขภาพ (ค่า PSI หรือ Pollutant standards index มีตั้งแต่ 0-500 และถ้าตัวเลขทะลุ 100 เมื่อไหร่ก็หมายถึง unhealthy หรืออันตรายต่อสุขภาพ) ทางเอ็นอีเอได้ออกคำเตือนให้ประชาชนลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานหรือที่ต้องใช้แรงมาก ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือเป็นโรคหัวใจนั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมดังกล่าวไปเลยในช่วงนี้


 

เถ้าควันไฟป่าทำคุณภาพอากาศ 3 ชาติอาเซียน ‘เลวร้ายที่สุดในโลก’

ฮอตสปอตทะลุ 2,700 แห่ง

จุดเกิดไฟป่า หรือพื้นที่ที่เรียกว่า ฮอตสปอต (hotspot) ในประเทศอินโดนีเซียตรวจพบ ณ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนถึง 2,719 แห่ง เป็นจำนวนที่ลดจาก 2,984 แห่งในช่วงต้นสัปดาห์ สะท้อนความสามารถในการควบคุมไฟป่าของทางการอินโดนีเซีย  จำนวนฮอตสปอตดังกล่าวอยู่บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว (หรือในอีกชื่อคือ เกาะกะลิมันตัน) ครอบคลุมพื้นที่ป่า 328,724 เฮคตาร์ หรือกว่า 2 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามมีความคาดหวังว่า สถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซียคาดหมายว่า จะมีฝนตกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ แม้ว่าสภาวะอากาศโดยทั่วไปบนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวจะยังคงแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่

 

ในส่วนของการยกเลิกเที่ยวบินหลายสิบเที่ยวบินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากหมอกเถ้าและควันไฟป่าปิดบังทัศนวิสัยนั้น เกิดขึ้นกับสนามบิน 3 แห่งในอินโดนีเซีย คือสนามบินเมืองสะมารินดา แซมพิต และบีรอ ทั้งหมดอยู่บนเกาะบอร์เนียว อย่างไรก็ตาม กระแสลมที่พัดพาหมอกควันไฟหนาทึบมายังประเทศมาเลเซียด้วยนั้น ทำให้สนามบินนานาชาติปีนัง ซึ่งเป็นสนามบินใหญ่อันดับ 3 ของมาเลเซียต้องประกาศเลื่อนหรือยกเลิกหลายเที่ยวบิน

 

ปัญหาระดับชาติ...มาเลย์ฯ-สิงคโปร์ เสนอความช่วยเหลือ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียแต่ส่งความเดือดร้อนถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้รัฐบาลมาเลเซียเสนอความช่วยเหลือในการดับไฟป่าไปยังอินโดนีเซียแล้ว ขณะเดียวกัน นายอันวาร์ อิบราฮิม บุคคลสำคัญในพรรคแกนนำรัฐบาลผู้ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของมาเลเซีย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับระบบนิเวศ มาเลเซียจึงจำเป็นต้องร้อนใจและลงมือทำอะไรบางอย่าง เขาคิดว่าต้องเอาผิดกับบริษัทเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรด้วย ทางด้านรัฐบาลสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าครั้งนี้เช่นกัน รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ ออกมาแถลงว่าได้เสนอความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียแล้วและพร้อมปฏิบัติการหากทางอินโดฯตอบรับมา

เถ้าควันไฟป่าทำคุณภาพอากาศ 3 ชาติอาเซียน ‘เลวร้ายที่สุดในโลก’

ในส่วนของอินโดนีเซียเองนั้น ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงและกำลังพลจากกองทัพอินโดนีเซีย 5,600 นายเข้าสู่พื้นที่ควบคุมไฟป่า และมีการขยายพื้นที่การทำฝนเทียมเนื่องจากในบริเวณที่เกิดไฟป่านั้นยังคงสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฤดูฝนจะเริ่มขึ้นราวกลางเดือนตุลาคม ดังนั้น จึงต้องพึ่งพาฝนเทียมในการดับไฟป่าไปก่อน คาดว่าจะต้องใช้แคลเซียมออกไซด์ปริมาณถึง 40 ตันในปฏิบัติการรวบรวมก้อนเมฆเพื่อสร้างฝนเทียมครั้งนี้