โออีซีดี-เวิลด์แบงก์ลั่น เศรษฐกิจโลกแผ่วสุดในรอบทศวรรษ

21 ก.ย. 2562 | 08:25 น.

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ระดับเพียง 2.9% จากที่คาดไว้เดิม 3.2% ในรายงานคาดการณ์ล่าสุดเดือนกันยายน โดยระบุว่าความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ผลักให้เศรษฐกิจโลกกลิ้งลงสู่ทิศทางของการดำดิ่งและเข้าใกล้ระดับต่ำสุดที่เคยประสบกันมาในช่วงที่โลกเผชิญวิกฤติการเงินเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โออีซีดีกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทั่วโลกให้เร่งหามาตรการรับมือเพื่อป้องกันความเสียหายในระยะยาว

 

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับเดือนพฤษภาคม โออีซีดีเคยเตือนไว้แล้วว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว และกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดรั้งการขยายตัว โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน หากเกิดการตอบโต้ทางการค้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (ภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง) แต่ถ้าหากผลจากการตั้งภาษีตอบโต้กันระหว่างจีนและสหรัฐฯไม่รุนแรงมากนัก เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะหดตัวลงเฉลี่ยที่ประมาณ 0.2-0.3% ภายในปี 2564

อย่างไรก็ตาม มาถึงขณะนี้ การตอบโต้ทางการค้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ส่งผลบั่นทอนความมั่นใจทั้งในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจ ดังนั้น รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับล่าสุดเดือนกันยายนของโออีซีดี จึงปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีประเทศหลักๆลงเกือบทั้งหมด (ดังกราฟิกประกอบ) โดยคาดว่าจีดีพีโลกในปีนี้จะขยายตัวเพียง 2.9% เท่านั้น ลดจากตัวเลขคาดหมายเดิมที่ 3.2% สะท้อนสถานะที่เปราะบางและไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังเตือนด้วยว่า ความเสี่ยงยังจะมีเพิ่มมากขึ้นในตลาดการเงิน

โออีซีดี-เวิลด์แบงก์ลั่น เศรษฐกิจโลกแผ่วสุดในรอบทศวรรษ

ไม่เฉพาะโออีซีดีเท่านั้นที่ออกมาเตือนในเรื่องการขยายตัวอย่างแผ่วบางของเศรษฐกิจโลก เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางจีน ต่างก็ออกมาประกาศนโยบายผ่อนคลายทางการเงินซึ่งครอบคลุมถึงการปรับลดดอกเบี้ยและการออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โออีซีดีเตือนว่า ในช่วงเวลานี้ รัฐบาลประเทศต่างๆ จำเป็นจะต้องนำนโยบายทางการคลังมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจมากขึ้น รายงานระบุว่า สงครามการค้าได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการเช่นเดียวกัน และหากการอ่อนกำลังลงของอุตสาหกรรมขยายเวลายืดยาว สุดท้ายก็จะส่งแรงสะเทือนมาถึงตลาดแรงงาน รายได้ครัวเรือน และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

 

“การที่ประธานาธิบดีทรัมป์นำโลกเข้าสู่จุดเสี่ยงด้วยการเปิดฉากสงครามการค้ากับจีน ทำให้ผู้บริโภค ภาคธุรกิจเอกชน และตลาดการเงิน ต้องยืนอยู่ขอบหน้าผาของความเสี่ยงและไม่มีความแน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าการทวีตข้อความครั้งต่อไปของประธานาธิบดีสหรัฐฯจะทำให้เกิดการผ่อนคลายหรือความตึงเครียด สภาวะที่ไม่แน่นอน ไม่อาจคาดเดานี้ทำให้ภาคเอกชนเพิ่มความระมัดระวังทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน ส่วนผู้บริโภคก็เปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่าย หันมาประหยัดอดออมกันมากขึ้น” รายงานของโออีซีดีระบุ และแนะนำว่า รัฐบาลนานาประเทศจำเป็นต้องเร่งมือหยุดยั้งมาตรการให้เงินอุดหนุนและการตั้งกำแพงภาษีที่จะทำให้ระบบการค้าถูกบิดเบือน และต้องนำมาตรการทางการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ซึ่งหากมีนโยบายเชิงโครงสร้างและสถานะความแข็งแกร่งทางการคลังมารองรับ ก็จะได้ผลที่ดียิ่งขึ้น

 

ด้านธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งเป็นอีกสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ออกมาเตือนภัยของเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวในอัตราที่มากกว่าความคาดหมาย ยํ้าเตือนว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในวงกว้าง นายเดวิด มอลพาส ประธานธนาคารโลกกล่าว ปีนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการเติบโตตํ่ากว่า 3% และอาจจะน้อยกว่า 2.6% ที่ธนาคารโลกเคยคาดการณ์ไว้ และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ นอกจากนี้ มูลค่าของพันธบัตรที่ผลตอบแทนติดลบหรือไม่มีผลตอบแทนในตลาดเวลานี้ก็มีมากถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์ ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนกำลังยอมรับว่าแนวโน้มที่ว่าผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตข้างหน้าหลายปีนั้น จะตํ่ามากหรืออาจจะไม่มีเลย “ทุนที่ถูกแช่แข็งอยู่นี้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่อ่อนแรงลงในอนาคต”

 

ประธานธนาคารโลกกล่าวในการปาฐกถาครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่สถาบันปีเตอร์สันในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อกลางสัปดาห์นี้ว่า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นฟันเฟืองใหญ่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจอาร์เจนตินา อินเดีย และเม็กซิโก และภาพรวมที่น่าผิดหวังในตลาดประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนอย่างยิ่งในเวลานี้ ไม่นับรวมบางส่วนของยุโรปที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือกำลังจะถดถอยแล้ว 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3507 ระหว่างวันที่ 22 - 25  กันยายน 2562