คนรุ่นใหม่ กับนวัตกรรมเพื่อสังคม

21 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

 

นวัตกรรมเพื่อ สังคม (Social Innovation) คือการนำความคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม เช่น การลดความเหลื่อมลํ้า การแก้ปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะคุ้นชินกับการที่นวัต กรรมถูกใช้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงนวัตกรรมควรถูกใช้เพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปควบคู่กัน เพราะถ้าหากเศรษฐกิจพัฒนาขึ้นแต่สังคมและสิ่งแวดล้อมแย่ลง การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นก็จะไม่ยั่งยืน

ตัวอย่างของนวัตกรรมที่ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น เช่น การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยในการสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยเกษตรกรในเรื่องของการประกันพืชผลทางการเกษตร

การใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ช่วยในการดูแลคนแก่ที่ต้องการความช่วยเหลือในยุคสังคมสูงวัย การใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อช่วยเรื่องการศึกษา ฯลฯ

 

 

คนรุ่นใหม่  กับนวัตกรรมเพื่อสังคม


 

 

ฝากไว้กับคนรุ่นใหม่?

คนรุ่นใหม่มีความคุ้นชินกับเทคโนโลยี เพราะเติบโตมาในยุคนี้และเป็น Digital Native นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้มีอยู่ไม่น้อย แต่เนื่อง จากสภาพสังคมปัจจุบันอาจดูเหมือนบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่สนใจในเรื่องความสำเร็จ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี และสภาพเศรษฐกิจ มากกว่าปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม

จริงๆ แล้วคนรุ่นนี้ยังเป็นผู้ที่ต้องอาศัยอยู่กับปัญหาสังคม (ที่หลายครั้งอาจเกิดจากพัฒนา การด้านเทคโนโลยีที่ในอดีตอาจ มองข้ามเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม) อยู่อีกยาวนาน การปลูกฝังให้คนเหล่านี้หันมาสนใจและนำความรู้ความสามารถที่มีมาช่วยสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม จึงเป็นสิ่งที่ยังควรจะต้องผลักดันให้มากขึ้น

 

ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจนวัตกรรม เพื่อสังคมมากขึ้น?

ปัจจุบัน องค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency) และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น United Nations Development Programme (UNDP) ได้ให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการผลักกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดประกวดแผนงาน ประกวดนวัตกรรม และการให้เงินสนับสนุน โดยหลายครั้งก็ได้รับความร่วมมือภาคการ ศึกษา และภาคเอกชน

นอกจากนี้ภาคเอกชนยังเป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มโครงการเหล่านี้ได้เองในรูปแบบของ Corporate Social Innovation คือการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้ควบคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจของตัวบริษัทเอง ส่วนภาคการศึกษาก็สามารถริเริ่มเพิ่มเติมได้ในรูปแบบของกิจกรรม ชมรม หรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องต่างๆ

อย่างไรก็ดีจิตสำนึกเพื่อสังคมยังต้องเริ่มจากภาคประชาสังคม เริ่มจากที่บ้าน และตัวคนรุ่นใหม่เอง

โดยหากคนรุ่นใหม่เปิดใจให้กว้างขึ้น มองปัญหาสังคมเป็นปัญหาของตัวเองด้วย มองความสำเร็จในการแก้ปัญหาสังคมและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นเป็นความสำเร็จของตัวเองด้วย เอาใจเขามาใส่ใจเรา และมองการณ์ไกล การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมก็จะสามารถเป็นไปได้อย่างยั่งยืน

 

คนรุ่นใหม่  กับนวัตกรรมเพื่อสังคม