ผลประโยชน์ก้อนโตตกกับใคร! นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน

19 ก.ย. 2562 | 05:15 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,506 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ย.2562 โดย... พรานบุญ


ผลประโยชน์ก้อนโต
ตกกับใคร!
นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน    



          กึกก้อง ฝุ่นตลบอบอวลไปทั่วท้องทุ่งบางกรวยยันเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ริมวิภาวดีรังสิต!
          เมื่อพนักงาน ผู้บริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมใจกันออกมาเปิดหน้าชน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ให้ กฟผ.ปรับเปลี่ยนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG 1.5 ล้านตัน จากทางบริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ที่เสนอราคาตํ่าสุดปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 8 ปี มาเป็นการทดลองนำเข้าจากตลาดจร หรือ ตลาด spot ปริมาณ 1-2 คาร์โก คาร์โกละ 90,000 ตัน
          เสียงคัดค้านดังกึกก้องไปทั่วคุ้งนํ้าเจ้าพระยา จนบรรดาลิง ค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น ยังอ้าปากค้างตกตะลึงกับปฏิกิริยาโต้กลับของ กฟผ.
          ข้อมูลการคัดค้านทะลักไหลบ่ายิ่งกว่าพายุใหญ่ มีการปฏิบัติการด้านการข่าวถล่มนโยบาย แบบปูพรม ที่มีการปรับเปลี่ยนไม่ให้ กฟผ.นำเข้ามายกล็อตนาน 8 ปี ทั้งบนดิน ใต้ดินอย่างเป็นขบวนการ ว่า นี่คือการร่วมกันสกัดการเติบโตของ กฟผ.ของกระทรวงพลังงาน และเอื้อยักษ์ใหญ่ปตท.ที่เป็นผู้ขายก๊าซหลัก!

ผลประโยชน์ก้อนโตตกกับใคร! นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน
         
          อีเห็น...ตั้งคำถามดังๆ ว่า เกิดอะไรขึ้นกับรัฐวิสาหกิจใหญ่ของรัฐบาล
          นังบ่าง..ได้ทีตั้งข้อสังเกตดังๆ ว่า การสกัดการลงนามเซ็นสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวปีละไม่เกิน 1.5 ล้านตัน รวมเป็นเวลา 8 ปีนั้น มันสะท้านในทรวงอกของใครต่อใครหลายคนแน่นอน เพราะหมายถึงการสกัดกั้นปริมาณการซื้อขายกันไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท...ไอ้หยา อาเฮีย!
          อะฮ่า กาๆๆๆ อีกาดำส่งเสียงร้องดังสะท้อนไปทั้งพงไพร!

ผลประโยชน์ก้อนโตตกกับใคร! นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน

          พรานฯที่นอนหลับบนห้างร้านเพื่อหลบเสือ สิงห์ กระทิง แรด สัตว์ประเภทกินเลือดกินเนื้อต้องสะดุ้งตื่นว่า เกิดอะไรกันหวา ป่าดงพงไพรที่เงียบสงบจึงร้อนดั่งเปลวเพลิง
          สืบไปสืบมาจึงรู้ว่า การเบรกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG รอบนี้ของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ที่เข้ามาทำหน้าที่ได้ไม่ถึง 2 เดือน ไม่ธรรมดา เสมือน “หมูเขาจะหาม ดั๊นเอาคานเข้ามาสอด”
          แล้วสนธิรัตน์เข้ามาสอดทำไมให้เปลืองตัว อยู่เฉยๆ ปล่อยให้เขาทำตามมติ กพช.-กบง.ที่เปิดทางให้ทดลองนำร่องซื้อก๊าซเอาไว้แล้วมิดีกว่าหรือ ทำไมต้องสั่งเบรกให้พนักงาน ผู้บริหารกฟผ.ด่าเอา?

ผลประโยชน์ก้อนโตตกกับใคร! นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน


          พรานฯ พามาดูข้อมูลนี่...20 พฤษภาคม 2562 ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กบง.เมื่อวันที่ 16พฤษภาคม 2562 ยังไม่เห็นชอบผลประมูลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว 1.5 ล้านตัน ของ กฟผ.เนื่องจากวิเคราะห์ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้ากับการจัดหาแต่ละช่วง พบว่าปี 2563 หากนำเข้ามาเท่ากับปริมาณที่ กฟผ.จะนำเข้า รวมกับที่บริษัท ปตท.ฯ จัดหามาจำหน่ายเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน มีปัญหาว่าไทยจะมีก๊าซธรรมชาติเหลือใช้จำนวนมาก!
          และจะเกิดปัญหาเรื่องต้นทุนค่าก๊าซฯ ที่จ่ายเพิ่ม จากกรณีสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (TAKE OR PAY) ที่ทางกฟผ.มีการทำสัญญาซื้อก๊าซไว้ ซึ่งจะกระทบกับค่าไฟฟ้าที่จะมีการคิดจากประชาชน จึงมอบหมายให้ กฟผ.ไปเจรจากับผู้ชนะประมูลว่า จะปรับเปลี่ยนปริมาณนำเข้าอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดภาระดังกล่าว และให้นำเรื่องกลับมาเสนอต่อที่ประชุมกบง.พิจารณาอีกครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์

ผลประโยชน์ก้อนโตตกกับใคร! นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน
          แสดงว่า กบง.ยังมิได้มีการอนุมัติให้นำเข้า!
          30 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ กบง.มีมติให้ กฟผ.ยกเลิกแผนการนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน โดยเปลี่ยนแปลงให้ กฟผ.นำเข้า LNG แบบราคาตลาดจร (spot) ปริมาณไม่เกิน 2 คาร์โก หรือปริมาณไม่เกิน 1.8 แสนตัน และอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเป็นการทดลองระบบและการแข่งขัน โดยการเปลี่ยนแปลงการนำเข้า LNG ของ กฟผ.จะนำเข้าสู่การรับทราบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือนกันยายนนี้
          สนธิรัตน์ ระบุว่า การพิจารณาในเรื่องการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ในแบบสัญญา spot กบง.ได้หารือร่วมกัน ระหว่าง กฟผ. บริษัท ปตท.ฯและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยจากข้อมูลพบว่า สถานการณ์ทั้งด้านราคาและปริมาณการใช้ LNG เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยในช่วงที่มีการพิจารณาให้ กฟผ.นำเข้า LNG ขณะนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมการประมูลสัมปทานก๊าซธรรมชาติทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ ซึ่งมีความกังวลว่าอาจจะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในไทย แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนก๊าซ ปริมาณการใช้ในประเทศก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น หากแต่ปริมาณที่มีอยู่มากกว่าปริมาณการใช้ก๊าซเสียอีก

          ขณะเดียวกันราคา spot LNG ในตลาดโลกก็ลดลงมาอยู่ที่ 4-5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาสัญญา LNG ระยะกลางอยู่ที่ 7.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู การนำเข้าก๊าซ LNG ในสัญญากับปิโตรนาสอยู่ที่ประมาณ 7-7.40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู การซื้อในตลาด spot จะมีราคาตํ่ากว่า กระทบค่าไฟฟ้าของผู้คนน้อยกว่า ไม่เกิดภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากค่า Take or Pay
          อีเห็นได้ทีสอดขึ้นมาว่า อันว่าค่า Take or Pay ที่เกิดขึ้น เป็นภาระจากสัญญาที่จะซื้อจากปตท.ปีละ 5.2 ล้านตัน แต่หากนำเข้ามา 1.5 ล้านตัน ปตท.ต้องไปลดการรับก๊าซแอลเอ็นจีจากคู่ค้าลง 20-30% เท่ากับว่าจะรับซื้อก๊าซได้ 3.6-4.16 ล้านตันต่อปี ปริมาณก๊าซที่หายไป 1-1.5 ล้านตันนั้น จะต้องฝากไว้กับคู่สัญญา ก็ต้องจ่ายเงินเต็มตามปริมาณก๊าซที่ทำสัญญาไว้ ภาระดอกเบี้ยและต้นทุนซึ่งจะบวกมาเป็นต้นทุนค่าไฟงัยละพรานฯ

ผลประโยชน์ก้อนโตตกกับใคร! นำเข้าก๊าซ LNG แสนล้าน


          แต่ทำไม กฟผ.จึงออกมาประท้วงและต้องการนำเข้าในราคาที่สูงกว่าสปอต และกระทบกับค่าไฟฟ้าที่คิดจากประชาชนยูนิตละ 2 สตางค์...อันนี้พรานฯ มิอาจจินตนาการได้
          เหนือกว่านั้นพรานฯมิอาจทราบได้ว่า ตกลงที่ผู้บริหารยอมรับในที่ประชุมว่านำเข้าก๊าซรอบนี้จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น 2 สตางค์ในช่วงปีแรกๆ กับข้อมูลที่ผู้บริหารบอกว่าจะทำให้ค่าไฟถูกลง 20 สตางค์อันไหนจริงอันไหนเท็จ
          อีกา..ร้องดังออกมาจากพงไพรว่า กฟผ.เขาต้องทำ เพราะเขาเปิดประมูลราคาตํ่าไว้แล้ว และไปผูกการเช่าโกดังถังก๊าซไว้แล้วเดือนละ 190 ล้านบาท ปีละ 2,280 ล้านบาท...
          หุหุ... สัญญาการจ่ายเงินไม่ธรรมดานะพ่อพรานฯ 33 ปีเชียวละ อยากรู้วงเงินก็เอา 2,280 คูณ ด้วย 33 ผลลัพธ์ที่ออกมาจากลูกคิดที่อีกาเห็นมันตั้ง 75,240 ล้านบาทเชียวนา...อะห่ะ
          ไอ้หยา..พรานฯอ้าปากค้างลำพังการออกไปหาลำไผ่ในป่าดงพงไพร พรานฯยังต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เสือ สิงห์ กระทิง แรด อย่างน้อย 5-10% อีนี่เขาจะซื้อกันเป็นแสนล้านนี่นา...