สรุป 9ข้อเหตุการณ์โจมตีคลังน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย

16 ก.ย. 2562 | 01:13 น.

1.เกิดเหตุโจมตีคลังน้ำมัน 2 แห่งในซาอุฯ

เมื่อเช้ามืดวันเสาร์ (14 ก.ย.) ที่ผ่านมาเกิดเหตุโจมตีคลังน้ำมัน 2 แห่ง ของบริษัทซาอุดี อารามโค ที่แหล่งผลิตน้ำมัน Abqaiq และ Khurais โดยเครื่องบินไร้คนขับหรือโดรนกว่า 10 ลำ ซึ่งโฆษกกระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบีย ออกมาเปิดเผยภายในวันเดียวกันว่า หลังจากที่คลังน้ำมันเกิดเพลิงลุกไหม้ ทางบริษัทซาอุดี อาราโคบริษัทสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยยังไม่มีการเปิดเผยถึงแหล่งที่มาของโดรนที่เข้าโจมตี

2.สถานที่ตั้งของคลังน้ำมันและกำลังการผลิต

แหล่งน้ำมัน Abqaiq ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Dhahran ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 60 กม. เป็นจังหวัดทางตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนแหล่งน้ำมัน Khurais ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 190 กม.นั้นเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของซาอุดีอาระเบีย

การโจมตีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันและก๊าซ 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ตัวเลขล่าสุดที่โอเปกเปิดเผยเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันของซาอุฯทั้งหมดอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรล/วัน เท่ากับว่าผลผลิตจะหายไปถึงราวครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็น 5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก

3.ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัสทะยานขึ้นกว่า 11% ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเช้านี้ ไนเม็กซ์ปรับตัวขึ้นกว่า15%แตะที่ราคา 63.34 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ทะยานกว่า 19%แตะที่ราคา 71.95 ดอลลาร์/บาร์เรล ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.

4.กลุ่มกฏบฮูตีในเยเมนอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

โฆษกกลุ่มกบฏฮูตีอ่านแถลงการณ์ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์อัล มาซิราห์ ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ใช้โดรน 10 ลำ และให้คำมั่นว่า ฮูตีจะขยายการโจมตีซาอุดิอาระเบียให้กว้างขึ้น

5.สหรัฐฯพุ่งเป้าอิหร่านอยู่เบื้องหลัง

นายไมค์ ปอมเปโอทวีต ช่วงบ่ายวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐฯ "ท่ามกลางการเรียกร้องเรื่องการลดความรุนแรง อิหร่านกลับเปิดการโจมตีแหล่งพลังงานของโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่มีหลักฐานว่า การโจมตีมาจากเยเมน"  

6.อิหร่านยืนกรานไม่เอี่ยวโจมตีคลังน้ำมัน

นาย เซย์เยด อับบาส มูซาวี โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน กล่าวในวันอาทิตย์(15 ก.ย.) ว่าการที่สหรัฐฯ กล่าวหาอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุฯ เป็นเรื่องที่ไม่มีข้อพิสูจน์และไม่เป็นความจริง และว่าที่สหรัฐฯ กล่าวหาพวกเขาก็เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของอิหร่านบนเวทีโลก เพื่อเตรียมสำหรับมาตรการต่อต้านเตหะรานในอนาคต

7.ทรัปม์ยกหูหาซาอุฯพร้อมสนับสนุนทุกทาง

ทำเนียบขาวแถลงการณ์หลังการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ระบุว่า สหรัฐขอประณามอย่างรุนแรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้ความขัดแย้งและความไม่น่าเชื่อถือต่ออิหร่านมีมากขึ้นไปอีก พร้อมเสนอให้การสนับสนุนต่อการป้องกันตนเองของซาอุดีอาระเบีย  

ล่าสุดทรัปม์ประกาศทางทวิตเตอร์ว่า สหรัฐฯจะปลดล็อคและปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

8.รัฐมนตรีพลังงานของไทยชี้ยังไม่กระทบแต่มีแผนรองรับแล้ว

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เผยว่าได้ประสานสอบถามไปยังบริษัท อารามโค และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ถึงผลกระทบทราบความว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุมได้ และอยู่ระหว่างสำรวจและประเมินความเสียหาย และยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะโรงงานที่ถูกไฟไหม้อยู่ในบริเวณทะเลทรายจึงไม่มีผลกระทบต่อคลังน้ำมันที่เป็นแหล่งน้ำมันที่ป้อนให้กับทางกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) จึงยังไม่กระทบต่อการนำเข้าน้ำมันของไทย แต่มีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เรียบร้อยแล้ว ภาพรวมประเทศมีปริมาณสำรองคงเหลือเพียงพอทั้งน้ำมันดิบสำรอง น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และน้ำมันสำเร็จรูป โดยจะไม่เกิดการขาดแคลนในระยะสั้น

9.ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับซาอุดิ อารามโค

เป็นบริษัทพลังงานใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้ เพียง 5 วัน ในวันที่ 11 ก.ย. นายอามิน นาสเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทซาอุดี อารามโค ได้เปิดเผยถึงการที่บริษัทเตรียมนำหุ้นเข้าจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ริยาดห์และในต่างประเทศ แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ใด

การเสนอขายหุ้น IPO ของซาอุดิ อารามโค ถือเป็นการทำ IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยทางบริษัทคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้มากถึง 1 แสนล้านดอลลาร์จากการนำหุ้น 5% ของบริษัทออกเสนอขาย วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า การขายหุ้น IPO ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของซาอุดีอาระเบียในปีนี้ และต่อมาจะมีการเสนอขายหุ้นในตลาดต่างประเทศในปี 2563 หรือ 2564

ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างพากันยื่นข้อเสนอให้ซาอุดี อารามโคนำหุ้นมาจดทะเบียนในตลาดของตัวเอง โดยตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน และฮ่องกงถือเป็นตัวเก็งในช่วงแรก ทั้งทั้งสองตลาดต่างมี่ความเสี่ยงด้านการเมืองที่ไม่แน่นอน ส่วนตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงทางด้านกฎหมายมากเกินไป เนื่องจากตลาดมีการคุมเข้มด้านการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และมีกฎระเบียบห้ามบริษัทจดทะเบียนพัวพันกับการเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย ล่าสุดโอกาสจึงไปตกอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวมีแนวโน้มได้รับเลือกในการจำหน่ายหุ้น IPO ของบริษัท แต่ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย และทุกทางเลือกยังคงมีความเป็นไปได้ และเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ จะคว้าสิทธิในการเป็นที่ปรึกษาหลักในการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทซาอุดี อารามโค ทั้งนี้ บริษัทซาอุดี อารามโค มีกำไร 1.111 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยมากกว่ากำไรของบริษัทแอปเปิล อิงค์ถึง 2 เท่า ส่งผลให้บริษัทขึ้นแท่นบริษัทที่มีกำไรมากที่สุดในโลก