กูรูจี้รัฐปลุกศก.ด่วน เร่งเครื่องยนต์3ทาง

15 ก.ย. 2562 | 06:00 น.

กูรูตรวจแถวพิษเทรดวอร์ยืดเยื้อ ยิ่งกระทบหนักขึ้นใน 5 ด้าน แนะรัฐบาลมีต้นทุนดี แค่เร่งเครื่องยนต์ต่อยอด 3 ทาง จะช่วยลดผลกระทบได้

การระเบิดศึกสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯกินเวลามา 1 ปีเศษ ปฏิกิริยาจาก 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยังไม่นิ่ง หากยืดเยื้อต่อไป ยิ่งเป็นปัญหาไปทั่วโลก  เวลานี้เศรษฐกิจโลกเริ่มชะงักงัน เมื่อการเติบโตของจีดีพี และการส่งออกของแต่ละประเทศรวมถึงไทย ส่งสัญญาณไม่เป็นไปตามเป้า

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อกังวลจากปัญหาต่อเนื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ว่า สะเทือนมาถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย  หากปัญหาดังกล่าวยังยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ  จะกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะ 5 ด้าน ที่ต้องจับตาให้ดีไล่ตั้งแต่  1. การเติบโตของจีดีพีประเทศไทย ที่แนวโน้มปีนี้คาดว่าจะร่วงลงไปราว  1%  จากเดิมที่หลายสำนักต่างตั้งเป้าจีดีพีประเทศไทยปีนี้จะเติบโต 4%   มีแนวโน้มร่วงลงมาอยู่ที่ 3%  บวกลบเล็กน้อย กูรูจี้รัฐปลุกศก.ด่วน  เร่งเครื่องยนต์3ทาง

    2.การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกติดลบไปแล้ว 1.9% จากเป้าหมายทั้งปีภาครัฐตั้งไว้ที่ 3%  (เดิมเมื่อต้นปี 2562 ตั้งเป้าว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโต 8% ต่อมาลดลงเหลือ 3%)  ดังนั้นตลอดทั้งปีการส่งออกมีโอกาสติดลบสูง  3.การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ของไทยเมื่อปี 2561 ลดลงไปแล้ว 7.5%  ขณะที่เวียดนามการลงทุน FDI ขยายตัวมากกว่า 10%  4.ภาคท่องเที่ยวเริ่มแผ่ว  เมื่อนักท่องเที่ยวจีนหันมาออมเงิน และรัดเข็มขัดมากขึ้นหลังเศรษฐกิจจีนออกอาการแตะเบรก ขณะที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าและค่าเงินบาทแข็งค่า  5. ภาคอสังหาริมทรัพย์ขายไม่ออก จีนซื้อน้อยลงและคนไทยก็ชะลอการซื้อลดลงทำให้คอนโดมิเนียมเหลือขายจำนวนมาก พอโครงการ เรียลเอสเตตมีปัญหามาก ก็ไปกระทบต่อผู้สร้างผู้ลงทุนด้านอสังหาฯ  พากระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ กระทบเป็นโดมิโน

อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  ยํ้าอีกว่า ผล
กระทบที่เกิดขึ้นทั้ง 5 ด้านนี้  หากปัญหาเทรดวอร์จีน-สหรัฐฯยังยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยและการค้า การลงทุนโลก เพราะกำลังซื้อที่มาจากจีนและสหรัฐฯมีสูงและเชื่อมโยงไปถึงกันทั้งโลก ก็จะทำให้ปัญหาทั้ง 5 ด้านที่ไทยเผชิญอยู่ยิ่งกระทบหนักขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยมีต้นทุนดีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีเสถียรภาพดี เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาก แสดงว่าเรามีเงินไหลเข้ามาในประเทศมาก ค่าเงินบาทถึงได้แข็งค่า  นอกจากนี้ทุนสำรองของแบงก์ชาติมีถึง 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี ถือว่าดีมาก อีกทั้งมีหนี้สาธารณะค่อนข้างตํ่า  หรือคิดเป็นมูลค่า 42% ของจีดีพี  เมื่อเทียบกับสหรัฐฯมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงถึง 100%  ญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงถึง 250%  ดังนั้นการที่รัฐบาลไทยจะลงทุนทำอะไรก็ยังมีความเสี่ยงน้อยมาก ขณะที่อัตรา ว่างงานอยู่ในสถานะที่ตํ่ามาก  สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่ดีของประเทศ ไทย รัฐบาลควรรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์

รศ.ดร.สมภพยังมีข้อเสนอแนะอีกว่า เพียงแค่รัฐบาลเร่งเครื่องยนต์ 3 ทางคือ 1.ปลุกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีโดยเร็ว ถือเป็นการขับเคลื่อนมาตรการที่มีอยู่แล้วในรัฐบาลก่อนให้เดินหน้าต่อเนื่องไป  2.เร่งภาคบริการให้เติบโตทั้ง ท่องเที่ยว บันเทิง การกีฬาเชิงพาณิชย์ การแพทย์ ฟู้ดเซอร์วิส เศรษฐกิจดิจิตอล  เนื่องจากต่อไปไทยจะพึ่งพาการส่งออกได้ลดลง จึงต้องรีบปรับทิศทางมาโฟกัสธุรกิจในภาคบริการมากขึ้น

3.รัฐบาลจะต้องเร่งเชื่อมโยงทุกด้านทั้งการค้า การลงทุนและการบริการกับประเทศในกลุ่ม CLMV, เอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เพิ่มมากขึ้นทั้ง 3 ด้าน  โดยเฉพาะภาคบริการของไทยที่ยังมีการพึ่งพาด้านนี้ในสัดส่วนเพียง 51% ของจีดีพี  ขณะที่จีนมีการพึ่งพาภาคบริการ 60% และสหรัฐฯมีสัดส่วนการพึ่งพาภาคบริการสูงถึง 80%  ดังนั้นไทยจะต้องเร่งขยับฐานการพึ่งพาภาคบริการให้ได้ถึง 60% เป็นอย่างน้อย  และจะต้องเป็นภาคบริการที่สมาร์ท เซอร์วิส โดยใส่บริการสมัยใหม่เข้าไป เช่น การท่องเที่ยวแบบดิจิทัล ทั้ง 3 ทางนี้จะช่วยลดผลกระทบจากเทรดวอร์จีน-สหรัฐฯได้

“เวลานี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนช้า จำเป็นต้องเร่งเครื่องยนต์ที่มีอยู่ให้เร็วขึ้น  โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟด่วน รถไฟทางคู่ ท่าเรือ ถ้าไม่รีบเร่ง ก็จะตกขบวนเพราะเทคโนโลยีโลกกำลังเปลี่ยน จาก 4 จีไปสู่ 5 จี ต่อไปแพ้-ชนะอยู่ที่ความเร็ว ถ้าช้าไปเราจะเดินหน้าลำบากมากเพราะวันนี้เราต้องอยู่กับเรียล ไทม์  อีโคโนมี”

      อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีโพลล์ออกผลสำรวจถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ว่าล้มเหลว ไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เคยกุมบังเหียนเศรษฐกิจของประเทศ อย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เพราะดูแลแค่ 4 กระทรวง ที่ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)  เท่านั้น จึงไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่า ตนเองนั้น คุมนโยบายเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด  ทำให้หลายฝ่ายมองว่า เกิดรอยร้าวในทีมเศรษฐกิจ เพราะมีพรรคร่วมรัฐบาล เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระทรวงเศรษฐกิจใหญ่ๆ ด้วย ดังนั้นความเป็นเอกภาพในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจแบบองค์รวมเหมือนที่ผ่านมา คงเป็นไปได้ยาก 

ล่าสุดที่กระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มาหารือนอกรอบกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่นายสมคิด จะเข้ามาสมทบในภายหลังในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนเข้าร่วมประชุมกองทุนหมู่บ้านฯกับกระทรวงการคลัง ซึ่งนายอุตตม กล่าวว่า เป็นเพียงการมาหารือเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้หารือนอกรอบกันเฉพาะทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ และเชื่อว่าการทำงานของทีมเศรษฐกิจทั้งหมด ยังคงมีเอกภาพ  ยังสามารถพูดคุยกับทีมเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาลได้ ทุกฝ่ายยังทำงานร่วมกันได้ ยังทำงานประสานกันตามปกติ เรายังเป็นเอกภาพ ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล” นายอุตตม กล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 วันที่ 15-18 กันยายน 2562

กูรูจี้รัฐปลุกศก.ด่วน  เร่งเครื่องยนต์3ทาง