หลังกล้องไซบีเรีย : เทียบ “ตม.30” ไทย-รัสเซีย คุมเข้มต่างชาติ?

15 ก.ย. 2562 | 00:56 น.

หลังกล้องไซบีเรีย: เทียบ “ตม.30” ไทย-รัสเซีย คุมเข้มต่างชาติ?

เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

 

 

ระยะนี้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับเสียงสะท้อนความไม่พอใจของชาวต่างชาติหลายคนต่อการยื่นเอกสาร “ตม. 30” ที่กองตรวจคนเข้าเมืองเพิ่งปัดฝุ่นขึ้นมาใช้อย่างเข้มงวด ทำให้นึกถึงกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกันของรัสเซีย ซึ่งถ้าใครมีแผนมาเยือนรัสเซียจะต้องทำความรู้จัก “หลังกล้องไซบีเรีย” สัปดาห์นี้จึงขอนำระเบียบควบคุมคนเข้าเมืองของสองประเทศมาคลี่ให้เห็นความเหมือน-ต่าง ว่าแบบไหนจะเข้มงวดหรือยืดหยุ่นให้กับชาวต่างชาติอย่างไรกันบ้าง

 

พ.ร.บ.คนเข้าเมืองของไทย กำหนดให้เจ้าของที่พักอาศัยยื่นแบบฟอร์มแจ้ง หรือที่รู้จักกันในนาม “ตม. 30” ต่อกองตรวจคนเข้าเมืองภายใน 24 ชม.หลังจากที่เข้าพัก และต้องแจ้งที่อยู่ให้ทางการรู้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะขับรถออกไปเที่ยว ย้ายไปทำงานต่างจังหวัดชั่วคราว หรือแวะออกไปต่างประเทศ แม้ว่าจะแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือถือวีซ่าระยะยาวอยู่แล้ว

หลังกล้องไซบีเรีย : เทียบ “ตม.30” ไทย-รัสเซีย คุมเข้มต่างชาติ?

รัสเซียเป็นประเทศที่ทุกคนรู้กันว่าให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงมากขนาดไหนก็มีระบบที่ดูจะไม่ต่างกันนัก ชาวต่างชาติที่เข้าเมืองมาแล้ว ไม่ว่าทำวีซ่าเข้าเมืองมาหรือใช้สิทธิ์ฟรีวีซ่า เช่นคนไทยที่สามารถเดินทางไปยังรัสเซียได้ 30 วัน ก็ต้องลงทะเบียนที่พักอาศัยทุกครั้งที่เปลี่ยนเมืองท่องเที่ยว หรือแม้แต่ย้ายที่อยู่ภายในเมืองเดียวกันก็ตาม

 

ทว่าจุดต่างของเงื่อนไขการแจ้งของรัฐบาลหมีขาวดูเหมือนจะเป็นระยะเวลาผ่อนผันการแจ้งนับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในเขตแดน โดยอนุญาตให้แจ้งได้ภายใน 7 วัน เมื่อเปลี่ยนที่พักก็ต้องทำเรื่องใหม่อีกครั้ง โดยเจ้าของที่พักใหม่จะต้องทำเรื่อง “รื้อ” ใบลงทะเบียนก่อนหน้าทำใบใหม่

 

ใช่แล้ว ในอีกแง่หนึ่งก็หมายความว่า ถ้าเราเข้ามาทำธุระในรัสเซียไม่ถึง 7 วันเราก็ไม่ต้องลงทะเบียนก็ได้! ส่วนคนที่สงสัยว่า แล้วถ้ามีแผนจะเที่ยวด้วยรถไฟสายทรานไซบีเรียยาวๆ จากต้นสายไปสุดสายซึ่งใช้เวลา 7 วันพอดีจะทำอย่างไร? คำตอบคือ ตั๋วรถไฟสามารถทำหน้าที่เป็นใบลงทะเบียนที่พักแทนได้ และหากย้ายที่อยู่ชั่วคราวไม่ถึง 3 วันก็ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่เช่นกัน

 

จุดเริ่มต้นของระบบตรวจสอบคนเข้าเมืองของทั้งสองฝ่ายมีประวัติที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ไทยเริ่มพ.ร.บ.คนเข้าเมืองในสมัยปี 2522 เพื่อเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่หนีเข้ามาในไทย ขณะที่รัสเซียเริ่มช่วงประมาณเดียวกันในสมัยโซเวียตภายใต้กรอบความคิดแบบคอมมิวนิสต์ สอดส่องความเคลื่อนไหวการเคลื่อนย้ายแรงงานอพยพ ทั้งจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในประเทศ

หลังกล้องไซบีเรีย : เทียบ “ตม.30” ไทย-รัสเซีย คุมเข้มต่างชาติ?

วิธีการยื่นแบบฟอร์มอาจดูยุ่งยากกันคนละแบบ ของรัสเซีย เจ้าของที่พักต้องไปทำเรื่องแจ้งกับที่ทำการพื้นที่หรือให้เจ้าบ้านช่วยหย่อนไปรษณีย์ส่งเอกสารให้ ส่วนไทยเราต้องไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ไม่ก็วิ่งโร่กันไปถึงที่ทำการแจ้งวัฒนะ หรือแจ้งกับสถานีตำรวจในท้องที่ แต่ยังดีที่ยังมีทางเลือกเช่นส่งไปรษณีย์หรือทำเรื่องผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว

 

“ตม. 30” ถ้ายื่นไม่ทันเวลา เจ้าของที่พักจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าปรับไปเต็มๆ และถ้าไม่จ่าย ชาวต่างชาติที่มาพักจะโดนแบล็กลิสต์ต่อไปอีกทอด ทำให้ต่อวีซ่าหรือใบอนุญาตอื่นๆ ไม่ได้จนกว่าจะเคลียค่าปรับกันให้เรียบร้อยก่อน สำหรับระบบของรัสเซียก็อาจโดนปรับเช่นเดียวกัน ส่วนคนที่อยู่ระยะยาวจะไม่สามารถต่อวีซ่าให้ได้ ต้องแพ็คกระเป๋าออกนอกประเทศไปเสียค่าปรับให้เรียบร้อยเสียก่อน และถ้าโชคร้ายอาจโดนพิจารณาโทษแบนไม่ให้เข้าประเทศอีกหลายปี

 

หากมองภาพรวมแล้ว “ตม. 30” ดูจะเป็นภาระให้กับเจ้าบ้านเสียมากกว่าที่ต้องมาตามแจ้งความเคลื่อนไหวของผู้มาเยือนทุกย่างก้าว ทำให้หลายคนเริ่มขยาดที่จะเปิดบ้านต้อนรับแขกเสียแล้ว ในขณะที่ระบบลงทะเบียนของรัสเซีย กลับเป็นผู้มาเยือนที่ต้องรู้หน้าที่ตนเองว่าเมื่อไหร่ที่ต้องร้องขอให้เจ้าบ้านช่วยยื่นเรื่องให้ และแบบไหนที่สามารถยืดหยุ่นกับการเดินทางได้ หากคำนวณผิดพลาด ผู้นั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตัวเอง

 

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากชาวต่างชาติแล้ว ชาวรัสเซียเองก็มีกฎหมายที่จะต้องรายงานตัวต่อทางการไม่ต่างกัน! โดยกฎหมายมีรากฐานมาจากระบบคุมการย้ายถิ่นฐานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิรัสเซียและในสมัยโซเวียตที่มีชื่อว่า Propiska ถ้าชาวรัสเซียย้ายที่อยู่นานกว่า 90 วันจะต้องมาทำเรื่องย้ายที่อยู่อาศัย มิเช่นนั้นอาจจะต้องเสียสิทธิ์พลเมืองบางอย่างหรือติดปัญหาด้านเอกสารเวลาติดต่อราชการอีกด้วย

 

*พบกับ คอลัมน์ "หลังกล้องไซบีเรีย" ทางเว็บไซต์ "ฐานเศรษฐกิจ" ทุกวันอาทิตย์*