ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV

16 ก.ย. 2562 | 01:10 น.

กลุ่มธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ เกาะติดกระแสยานยนต์ไฟฟ้า ค่าย “ปตท.” ผนึกสตาร์ตอัพจีน หวังใช้ไทยเป็นฐานผลิตอีวีเพื่อขายในประเทศและส่งออก ส่วน “บางจาก” ลงทุนกับบริษัทในอเมริกาศึกษาการทำแบตเตอรี่ พร้อมขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าทุก 100 กม. ด้านค่ายรถ “เอ็มจี” ฟุ้ง ยอดจอง “แซดเอส อีวี” ทะลุ 1,000 คัน

ยุคใหม่ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น ดังจะเห็นจากการที่หลายค่ายยื่นบีโอไอเพื่อขอรับการส่งเสริมในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการเปิดโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในไทยไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า, บีเอ็มดับเบิลยู,เมอร์เซเดส-เบนซ์

นอกจากนั้นแล้วการที่ค่ายเอ็มจี นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในรุ่น แซดเอส อีวี จากจีนมาจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้ และสะท้อนออกมาเป็นยอดขาย 1,000 คันในช่วง 2 เดือน ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการตอบรับของลูกค้าที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า และช่วยกระตุ้นให้ตลาดนี้คึกคักขึ้นมา

ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV

“เดิมเราตั้งเป้า 1,000 คันจนถึงสิ้นปี แต่ปรากฏว่า 2 เดือนเราทำยอดจองได้แล้ว 1,000 คัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสทางการตลาดมันมี ดังนั้นเราจึงประเมินใหม่และคาดว่าจนถึงสิ้นปีน่าจะทำยอดได้ 2,000 คัน ขณะที่ยอดส่งมอบนั้นมีกว่า 200 คัน คาดว่าจนถึงสิ้นปีจะส่งมอบรถให้ครบทุกคัน” นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองประธานกรรมการ บริษัท เอ็มจี เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV

 

 

“อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลทำให้รถยนต์ไฟฟ้าขายได้ คือความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเอ็มจีได้จับมือกับอีเอ ที่ให้บริการสถานีชาร์จไฟ และได้ติดตั้งหัวจ่ายที่โชว์รูมไปแล้ว 19 แห่ง และตั้งเป้าจะขยายให้ครบ 130 โชว์รูมภายในสิ้นปีนี้”

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ไทยถือว่าพร้อมที่สุด ประกอบกับการเป็นฐานผลิตรถยนต์อยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตรัฐบาลก็น่าจะให้การสนับสนุนต่อไป รวมไปถึงผู้เล่นอย่าง ปตท. หรือสถานีบริการนํ้ามันรายอื่นๆ และหน่วยงานอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง ที่มีแผนขยายจุดชาร์จไฟเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ช่วยกระตุ้นให้ยานยนต์ไฟฟ้าเกิด

ล่าสุดผู้เล่นด้านพลังงานรายใหญ่อย่าง ปตท.ได้ขยับแนวรุกธุรกิจเข้ามาสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการจับมือกับสตาร์ตอัพจีนในนาม WM Motors ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV ) แบรนด์ Weltmeister ที่มียอดขายมากกว่า 1 หมื่นคัน (เป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มบริษัท EV Startup ในประเทศจีน)

การจับมือกันในครั้งนี้ปตท.ระบุว่าจะร่วมมือกันศึกษาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ด้านต่าง ๆ อาทิ การลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ไทยผลิต Localized
Model เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์พลาสติกของกลุ่ม ปตท. รวมไปถึงศึกษาความเป็นไปได้ของ ปตท. ในการเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของ WM Motors โดยไทยจะเป็นศูนย์กลางส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้งยังร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และโครงการอื่นๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย “Thailand 4.0” ของภาครัฐ

การจับมือกับสตาร์ตอัพจากจีน มิใช่รายแรกของปตท. โดยก่อนหน้านั้น ปตท.ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากับETRANซึ่งเป็นสตาร์ตอัพแบรนด์ไทย เพื่อร่วมศึกษาตลาดรถไฟฟ้าพัฒนาต้นแบบ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีปรับปรุงคุณภาพสินค้าและรูปแบบธุรกิจต่างๆรวมทั้งรูปแบบการชาร์จที่จะร่วมสร้างมาตรฐานในการชาร์จ

ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV

ถือเป็นการขยับตัวเตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อรองรับกับยานยนต์ไฟฟ้าจากปตท. ซึ่งเดิม ปตท. ได้ประกาศแผนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่และไฮโดรเจน และสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบที่สถาบันวิทยสิริเมธี จ.ระยอง เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ ที่สามารถประจุไฟฟ้าได้มากกว่าปกติ 3 เท่า ซึ่งบริษัทในเครือ ได้แก่ ไทยออยล์, พีทีที โกลบอล เคมิคอล และไออาร์พีซี ได้มีแผนขอซื้อไลเซนส์ในการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว โดยจะตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)

นอกจากนี้ ปตท. ยังเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า  (PTT EV Station) ไปแล้วกว่า 14 แห่ง และพัฒนาเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบติดผนัง (EV Wall Charger) เพื่อจำหน่ายให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารายย่อย รวมไปถึงลงนามความร่วมมือกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน

เรียกว่าไม่ยอมตกขบวนสำหรับบริษัทพลังงานรายใหญ่ของไทย และแม้ว่าทิศทางยานยนต์ในอนาคตจะมุ่งเข้าหาไฟฟ้า และส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ค้านํ้ามัน จนอาจเกิดเป็น
disruption แต่เมื่อดูจากการเตรียมความพร้อมของปตท.แล้วก็ต้องบอกว่าไม่หวั่น เพราะมีแผนรองรับแบบเต็มสูบ

เช่นเดียวกับบริษัทพลังงานอีกรายอย่าง บางจาก โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์รายงานว่าบางจากได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพของสหรัฐอเมริกา ในชื่อ “เอนเนเวท” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตลิเทียมแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า สามารถรองรับการชาร์จพลังงานได้รวดเร็วขึ้น 10 เท่า ซึ่งคาดว่าบางจากจะต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวมาทำเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบควิกชาร์จ ให้รวดเร็วเทียบเท่ากับการเติมนํ้ามัน

นอกจากนี้ยังมีแผนการลงทุนร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการบางจาก ทุกๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักรวม 62 สถานี ภายในปี 2021

ขณะที่ผู้เล่นหลักในธุรกิจให้บริการชาร์จไฟอย่าง EA Anywhere บริษัทพลังงาน บริสุทธิ์ฯ ก็เดินหน้าขยายจุดชาร์จไฟ จากปัจจุบันมีจำนวน 380 แห่ง และภายในสิ้นปีจะติดตั้งอีก 190 แห่ง แต่หากนับเป็นจำนวนหัวจ่ายทั้งหมดที่ให้บริการก็จะมีกว่า 680 หัวจ่าย นอกจากนั้นแล้วอีเอ ยังมีการจับมือกับพันธมิตรอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น เซเว่น อีเลฟเว่น 21 สาขา, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน , ศูนย์บริการรถยนต์ A.C.T. และ Cockpit,อินซ์เคป ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์แลนด์โรเวอร์และจากัวร์ในประเทศไทย

ยักษ์พลังงานขยับ "ปตท.-บางจาก" จ่อลุย EV

“กระแสการตอบรับรถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น ในส่วนของสถานีชาร์จไฟหากเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเติมแต่ละครั้งกับพลังงานอื่นๆ นั้นถือว่าถูกกว่า ประกอบกับค่ายรถมีการเปิดตัวรถไฟฟ้า จึงช่วยกระตุ้นและทำให้คนตัดสินใจซื้อเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น”นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์กรรม การผู้จัดการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ในเครือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EAกล่าว 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,505 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2562