Trihub กอดคอพันธมิตร ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

16 ก.ย. 2562 | 03:00 น.

ร้าน “ไตรฮับ” (Trihub) ถือกำเนิดขึ้นมาจากความชอบ จนถึงขั้นหลงใหล ในกีฬาที่เรียกว่า ไตรกีฬา (วิ่ง ว่ายนํ้า ปั่นจักรยาน) จนเข้ากระแสเลือดของ “ศศิทัต  กุลทรัพย์ตระกูล” หนุ่มนักบินจากสายการบินแห่งชาติ  ที่เริ่มต้นเล่นกีฬาประเภทดังกล่าวประมาณปี 2554 โดยที่ในขณะนั้นอุปกรณ์เกี่ยวกับการเล่นไตรกีฬายังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย  ต้องบินไปซื้อจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย และอังกฤษ หลังจากนั้นจึงมีผู้แนะนำให้ทดลองหิ้วผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไตรกีฬาเข้ามาจำหน่าย เส้นทางการทำธุรกิจบนกีฬาที่รักจึงเริ่มเปิดขึ้น

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

 

ความหลงใหลสู่ธุรกิจ

ศศิทัต ในฐานะกรรมการผู้จัดการ  บริษัท บี แอนด์ บี เอาท์ดอร์ สปอร์ต จำกัด บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความที่ตนเองไม่ชอบหิ้วของจากต่างประเทศมาจำหน่าย เพราะมองว่าไม่น่าจะเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน  แต่ต้องการทำให้เป็นระบบมากกว่า ไม่ใช่ว่าพอเหนื่อยแล้วก็ต้องเลิกไป  โดยจะต้องมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงนั้นตนทำธุรกิจเป็นผู้จัดจำหน่ายกระเป๋าแบรนด์หนึ่งจากประเทศอังกฤษในภูมิภาคเอเชีย ต้องมีการเดินทางไปพบกับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลี และฮ่องกง

ทั้งนี้  จึงทำให้ตนได้มีโอกาสเห็นตลาดไตรกีฬาของประเทศเหล่านั้น  ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างมาก  โดยมองว่าหลายแบรนด์ยังไม่มีจำหน่ายในไทย จากที่จำหน่ายกระเป๋าเพียงอย่างเดียว  จึงนำมาซึ่งอุปกรณ์ประเภทรองเท้า แว่นตาว่ายนํ้าและขยายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้องการสร้างแบรนด์  หรือแสดงตัวตนให้ผู้บริโภคในตลาดได้รู้จักจึงต้องมีการออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับไตรกีฬาทุกงาน ทำให้ได้รู้จักกับแบรนด์อื่นเพิ่มเติม หรืออุปกรณ์อื่นที่มีจำหน่ายในตลาด  เนื่องจากไตรกีฬาในไทยมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างมาก

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

“จากที่เคยมีบ้านเป็นออฟฟิศ และทำร่วมกับแฟนพร้อมกับพนักงานอีก 1-2 คนเริ่มจะไม่พอ  โดยต้องการมีพื้นที่ในการโชว์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการที่ออกบูธทำให้ได้รู้ว่าผู้ประกอบการรายอื่นก็ยังไม่มีพื้นที่ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหมือนกัน  ตนจึงนำทั้งผลิตภัณฑ์ที่ตนนำเข้ามาจำหน่าย  รวมถึงของผู้ประกอบการรายอื่นทั้งที่นำเข้า  และแบรนด์ไทยมาจำหน่ายด้วย พร้อมทั้งขายจักรยานให้กลายเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับไตรกีฬาที่สมบูรณ์แบบอย่างจริงจัง  ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกของไทยที่เป็นร้านเฉพาะของกีฬาประ เภทนี้  และเกิดเป็นร้าน Trihub ขึ้นมาในที่สุดเมื่อปี 2560”


 

ร่วมมือกันสร้างตลาด

สำหรับวิสัยทัศน์ในการทำตลาดของ ศศิทัต นั้นถือว่าไม่ธรรมดา  เพราะเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นให้เติบโตไปด้วยกัน เนื่องจากมองว่าตลาดมีความกว้างพอสำหรับผู้เล่นทุกราย เพียงแค่จับมือกันทำให้เติบโต ช่วยกันขยายตลาด  โดยหากคิดว่าตลาดมีอยู่เพียงเท่านี้ และต้องมาชิงกันท่าจะลำบาก  เพราะฉะนั้นจึงร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน น่าจะเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่า

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

“การร่วมมือกันเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ เช่น การทำตลาดร่วมกับบัตรเครดิตเคทีซี ไลน์เพลย์ โดยทั้งช่องทางของเราเอง และช่องทางของพาร์ตเนอร์จะช่วยส่งกันทำให้ภาพรวมของตลาดใหญ่ขึ้น เปรียบเสมือนเป็นการช่วยกันโหมตลาด”

ส่วนกลยุทธ์ในการทำตลาดระยะต่อไปของ Trihub นั้น  จะยังไม่มีการขยายหน้าร้าน  แต่จะเน้นการบริหารจัดการ  และการวางระบบให้เป็นระเบียบในรูปแบบองค์กร  หรือทำให้มีเสถียรภาพ  เพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  จากเดิมที่การเติบโตจะเป็นเสมือนการหว่านแห โดยร้านจะมีการวางระบบสต๊อก จัดทำระบบบัญชี ซึ่งจะทำให้รู้ได้ทันทีว่าผลิตภัณฑ์ชนิดใดจำหน่ายได้ดี  และจะต้องสั่งมาเพิ่มเติมเมื่อใด  ไม่จำเป็นจะต้องสต๊อกไว้คราวละมากๆ โดยเป็นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีศักยภาพ  

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน

“เดิมทีจะใช้ความรู้สึกว่าควรสั่งผลิตภัณฑ์ใดเข้ามาจำหน่าย  และมักจะสต็อกของไว้ครั้งละมากๆ  ทำให้ต้นทุนจม แต่เมื่อมีการวางระบบแล้วตัวเลขจะบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเราควรสั่งอะไร  เมื่อไหร่  ผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนที่ลูกค้านิยมซื้อ ตนเองก็จะสามารถวางมือไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น  มีการวางสายงานให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วน โดยที่ทุกบริษัทจะต้องมีเป้าหมาย ซึ่งบริษัทของตนก็คือการสร้างบริษัทที่เกี่ยวกับไตรกีฬา โดยพนักงานทุกคนจะต้องทำงานด้วยความสุข  มีสุขภาพที่ดี  ได้เล่นกีฬาที่ชอบควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท”

เมื่อสามารถจัดสรรทุกอย่างให้เป็นระบบได้  ก็จะเป็นการปูทางไปสู่การขยายสาขาแห่งที่ 3 ในอนาคต โดยในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายเรื่องของรายได้ไว้ที่ 36 ล้านบาท  และจะขยายเพิ่มเป็น 60 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งจะมาจากการหาตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติมในการสร้างยอดขาย โดยเพิ่มเป้าอย่างมีเหตุมีผล เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไปและรู้สึกว่าสามารถทำได้

 

ทำตลาดแบบบูรณาการ

ศศิทัต บอกต่อไปว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดทางด้านไตรกีฬายังมีอีกมาก เพราะผู้เล่นจะไม่เลิกเล่นกีฬาประเภทนี้ แต่จะเสพติดการพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้น อีกทั้งการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพก็จะเป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้ตลาดขยายได้มากขึ้น นอกจากนี้ร้าน Trihub ยังถือว่ามีความได้เปรียบจากการรวบรวมกีฬาทั้ง 3 ประเภทมาไว้ด้วยกัน โดยสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งนักไตรกีฬา และผู้ที่เล่นกีฬาแต่ละประเภทโดยเฉพาะ   

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน   

“การทำตลาดในอดีตและปัจจุบันมีความยากง่ายแตกต่างกันไป  โดยในอดีตการทำตลาดจะเป็นแบบการเจาะจง แต่การทำตลาดทุกวันนี้ต้องเป็นแบบบูรณาการ จะต้องมีการให้ความรู้ การให้บริการ การชี้นำเพื่อนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่าย  ซึ่งผู้ประกอบการยุคใหม่จะต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี  และช่องทางการทำตลาดใหม่ๆ  เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การซื้อผลิตภัณฑ์บนช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคย  ขณะที่สถาบันการเงินก็พยายามอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่  ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 วันที่ 15-18 กันยายน 2562

Trihub กอดคอพันธมิตร    ชูกลยุทธ์เพิ่มรายได้ยั่งยืน