จีนผงาดเบอร์1 ค้า-ลงทุนในลาว แนะ 3 ทางรอดทัพธุรกิจไทย

12 ก.ย. 2562 | 08:51 น.

จีนผงาดเบอร์1 ค้า-ลงทุนในลาว แนะ 3 ทางรอดทัพธุรกิจไทย

สปป.ลาวปฎิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1986 ที่เรียกว่า “New Economic Mechanism : NEM” เน้นระบบเศรษฐกิจแบบเชิงตลาด (Market -Oriented System) แทนที่การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง หนึ่งในนั้นก็คือ “วิสัยทัศน์ 2030 (Vision 2030)” หรือที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์มุทะลุ” หรือ “ยุทธศาสตร์เชิงรุก” เพื่อเปลี่ยนประเทศจาก “Land Locked” เป็น “Land linked” และต้องการให้ประเทศลาวหลุดพ้นจากประเทศพัฒนาด้อยที่สุด สู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในปี 2001 รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 319 ดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2015 รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 1,813 ดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับที่ 138 ของโลก ปี 2018 รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 2,609 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา World Bank)

 

 โดยตั้งเป้าให้มีรายได้ต่อหัวของคนลาวเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากปัจจุบัน และต้องทำให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 8% (IMF คาดว่าอีก 10 ปี อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 7.5%) ขณะเดียวกันต้องการให้มีการลงทุนคิดเป็น 30 % ของ GDP โดยครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

 

ในปี 2015 เงินลงทุนต่างประเทศเข้าไปในลาวอยู่ที่ 1,267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน GDP ลาวอยู่ที่ 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของ GDP,  ปี 2016 FDI อยู่ที่ 5,638 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ASEAN Business Guide : Laos, KPMG, 2018)  GDP 15,806 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วน 35%

จีนผงาดเบอร์1 ค้า-ลงทุนในลาว แนะ 3 ทางรอดทัพธุรกิจไทย

 

สปป.ลาว มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศในอนาคตเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือการเปลี่ยนประเทศจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (land locked) สู่การเป็นประเทศเชื่อมโยงทางบก (land linked) และแบตเตอรี่ของอาเซียน จากนโยบายของรัฐบาลและนโยบายยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม  (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันถึงเป้าหมายดังกล่าว

 

จีนผงาดเบอร์1 ค้า-ลงทุนในลาว แนะ 3 ทางรอดทัพธุรกิจไทย

ปัจจุบันจีนเป็นนักลงทุนและผู้สนับสนุนด้านการเงินอันดับหนึ่งของลาว โดยทั้งสองประเทศร่วมมือกันใน 5 เรื่องคือ การเชื่อมโยง  ก่อสร้าง การเกษตรกรรม พลังงาน  และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ 1.รถไฟจีน-ลาว ระยะทาง 414 กม. (เริ่มจากบ่อเต็น-เวียงจันทน์) เงินลงทุน 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลลาวถือหุ้น 30%  รัฐบาลจีนถือ 70% เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2016 กำหนดแล้วเสร็จปี 2021

 

2.เขื่อนพลังงาน ได้แก่ ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำอู (Nam Ou River Hydropower)” เป็นลำนำโขงจากมณฑลยูนนาน ผ่านแขวงพงสาลีและหลวงพระบาง กำหนดแล้วเสร็จในปี 2020  และ “น้ำงึม (Nam Ngum III Hydropower Station)” ห่างจากเวียงจันทน์ 90 กม. และพลังงานถ่านหินในจังหวัดเซกอง (Sekong) และจังหวัดหัวพัน (Huaphanh) 3.การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษของ สปป.ลาวมีทั้งหมดทั้งหมด 13 เขต และรัฐบาลลาวมีเป้าหมายเป็น 41 เขต โดยใน 10 ปีข้างหน้าจะต้องให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 25 เขต ซึ่งหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนจีน นอกจากนี้มีการ “สร้างเมืองใหม่” ผ่านโครงการที่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง” ใจกลางกรุงเวียงจันทน์ สื่อต่างๆ เรียกว่า “มาเก๊า 2” หรือ “ดูไบแห่งอาเซียน” และร่วมพัฒนา  Mohan-Boten Economic Zone ที่ทำเป็น “Cross Border E-Commerce” ทางบก ซึ่งเดิมรัฐบาลลาวตั้งเป็นเขตการค้าและโลจิสติกส์

 

4. ดาวเทียม (Ground Station for “Lao Sat-1)” 5.การลงทุนด้านการเกษตรในรูปแบบ เกษตรพันธะสัญญา 3+2 คือเกษตรกรลงแรงและที่ดิน ที่เหลือบริษัทจีนให้ปัจจัยการเกษตร วิชาการและการทำการตลาด สำหรับด้านการค้านั้น จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของลาว (คู่ค้าอันดับ 1 คือประเทศไทย) โดยจีนนำเข้าแร่ธาตุ และไม้จากลาว ในขณะที่จีนส่งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็ก เป็นต้น

 

เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI วัดจาก “FDI” ในประเทศลาวพบว่าก่อนปี 2011 นักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 คือประเทศไทย แต่หลังจากนั้น FDI ของจีนขึ้นเป็นอันดับ 1 แทนที่เม็ดเงินจากประเทศไทย ปี 2560 มีเงินลงทุนจีนสะสม 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากข้อมูลปี 2561 พบว่า จีนลงทุนโครงการใหญ่ ๆ ในลาวจำนวน 11 โครงการ ซึ่งการรุกหนักของนักลงทุนจีนใน สปป.ลาวนั้น การปรับตัวของธุรกิจและการลงทุนของไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

จีนผงาดเบอร์1 ค้า-ลงทุนในลาว แนะ 3 ทางรอดทัพธุรกิจไทย

 

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณวราวุธ มีสายญาติ ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว นักธุรกิจหญิงลาวและผมต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจในลาวจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็วจาก “ทุนจีน” อย่างมาก สิ่งที่จะได้รับผลกระทบแน่ๆ คือ สินค้าไทยที่ขายในลาว จีนกำลังเร่งผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อแทนที่สินค้าไทย และสกุลเงินหยวนจะเข้ามาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์และเงินบาท เพราะเมื่อธุรกิจส่วนใหญ่เป็นของจีน เงินที่ใช้ในการทำธุรกิจก็ต้องเป็นของจีน

 

สิ่งที่ธุรกิจไทยต้องปรับตัวผ่าน 3 ยุทธศาสตร์คือ 1.“ยุทธศาสตร์บินไปกับพญามังกร” ก็คือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมหรือธุรกิจจีนเพื่อขายให้กับประชาชนลาวหรือเป็นฐานการผลิตส่งออกไปประเทศที่สาม   2. “ยุทธศาสตร์เสียบปลั๊ก” จังหวัดของไทยที่ใกล้กับเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านต้องรีบเข้าไปหาลู่ทางธุรกิจ อาจจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าของจังหวัด เช่น จังหวัดน่านใกล้กับสถานีรถไฟหลวงพระบางมากที่สุด 3. “ยุทธศาสตร์ปลายซอย” ธุรกิจไทยจะเข้าไปช่วยเติมเต็มธุรกิจจีน เช่น ธุรกิจโรงแรมจีน และธุรกิจห้างสรรพสินค้าจีน จะมีสินค้าสำเร็จรูปไทยเข้าไปจำหน่าย