"เจโทร" หนุนไทยปั้นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

13 ก.ย. 2562 | 08:45 น.

ด้วยเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของไทย หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub) ที่ทำให้ตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ของไทยคึกคักขานรับ และมีการขยายตัวอย่างน่าประทับใจ โดยสถิติขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ชี้ว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ในอัตราสูง คือโตเฉลี่ยปีละ 8-12% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่มากกว่าประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หลายประเทศในยุโรป และญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดระดับต้นๆของโลกก็จริง แต่มีการขยายตัวในอัตราตํ่ากว่ามาก เช่น ตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ของญี่ปุ่นที่แม้จะครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของโลก (ดังกราฟิกประกอบ) แต่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละราวๆ 2% เท่านั้น

“ถึงแม้ว่าปัจจุบันตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ของไทยยังมีขนาดเล็ก แต่ศักยภาพที่จะขยายตัวนั้นมีสูงมาก และคาดว่าจะเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีนั้นสูงเกือบๆ 10% ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและความทันสมัยของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ขณะเดียวกันไทย ยังเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว

ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาและบริการเชิงสุขภาพแก่ผู้สูงวัยมีการขยายตัวตามจำนวนประชากรผู้สูงวัยไปด้วย ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดเครื่องมือการแพทย์ขยายตัวตาม ในส่วนของเจโทร กรุงเทพฯ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า-การลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและไทยนั้น เราเห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความร่วมมือ” นาย อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” และขยายความว่า

"เจโทร" หนุนไทยปั้นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

ในอดีตที่ผ่านมา เจโทรเคยส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบในประเทศไทย จนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่หากจะถามว่าอุตสาหกรรมใดที่เจโทรจะให้การส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้นในประเทศไทยต่อไปในอนาคต ก็มองว่าโอกาสที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์นั้น มีความเป็นไปได้ และเป็นสิ่งที่เจโทรกำลังมองอยู่ หนึ่งในกิจกรรมสนับสนุนที่เกิดขึ้นแล้ว คือการนำคณะบริษัทเอกชนญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 76 บริษัทมาร่วมงาน Medical Fair 2019 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนที่ไบเทค บางนา และในจำนวนนี้มี 10 บริษัทมาจากจังหวัดฟุกุชิมะภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมแบบ 2 ทางระหว่างญี่ปุ่นและไทย ที่เรียกว่า The Regional Industry Tie-up program (RIT) โดยมีการเข้าร่วมกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) กับบริษัทเอกชนไทยด้วย

นายคัทสึมิ มัตสึโมโตะ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสแผนกเครื่องมือแพทย์ จากศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือการแพทย์แห่งจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่นและมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัยกว่า 70 บริษัท เปิดเผยว่า แม้การพบปะเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าไทยครั้งนี้ จะเป็นเพียงก้าวแรกของการนำผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาทำความรู้จักและสัมผัสกับตลาดเครื่องมือการแพทย์ของไทยโดยตรง แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การจับมือทำธุรกิจหรือร่วมลงทุนกันได้ต่อไปในอนาคต จากศักยภาพของไทยเองซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโต อีกทั้งยังตั้งอยู่ในจุดศูนย์ กลางของภูมิภาคอาเซียนที่หลายประเทศก็เป็นตลาดเครื่องมือแพทย์ที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน

 

ประธานเจโทรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจลงทุนตั้งฐานการผลิตของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นนั้น จะดูในเรื่องการให้ความสนับสนุนของภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ต่างตอบโจทย์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การที่ภาครัฐของไทยกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) ยังเป็นอีกปัจจัยที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีการขยายตัวตามไปด้วยซึ่งรวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทำให้ตลาดประเทศไทยน่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเจโทรชี้ว่า ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์และดรักสโตร์ (ร้านขายยาและเวชสำอาง) ในประเทศไทยอยู่แล้วจำนวนกว่า 30 บริษัท และมีบริษัทผู้ผลิตยาของญี่ปุ่นจำนวน 16 บริษัท 

สัมภาษณ์โดย : รัตนศิริ สุขัคคานนท์

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3504 ระหว่างวันที่ 12 - 14  กันยายน 2562