รัฐบาลต้องสร้างความสามัคคี หยุดไฟความขัดแย้ง

12 ก.ย. 2562 | 06:50 น.

ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.2562 โดย... ประพันธุ์ คุณมี 
 

รัฐบาลต้องสร้างความสามัคคี 
หยุดไฟความขัดแย้ง

 

          ได้อ่านบทความของ คุณประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. เรื่อง “การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อดังนี้  
 
          “เนื่องจากสังคมไทยเผชิญกับวิกฤติความขัดแย้ง แตกแยกทางการเมืองมายาวนาน อันเนื่องมาจากความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในช่วงหนึ่งถึงกับนำไปสู่ความรุนแรง จนเกือบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีผู้ คนบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนหนึ่ง อีกจำนวนหนึ่งยังถูกจับกุมคุมขัง และอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีโดยศาลสถิตยุติธรรม นี่เป็นความร้าวฉานที่บั่นทอนชีวิตอันสุขสงบของสังคมไทย อันส่งผลกระทบกระเทือนถึงการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจของคนไทยทั่วประเทศอีกด้วย

          บัดนี้ถึงเวลาที่สังคมไทยควรหันหน้าเข้าหากัน สร้างสานหนทางแห่งสามัคคีธรรม นำประเทศชาติออกจากหลุมดำแห่งความขัดแย้ง เหมือนดังที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลได้ออกคำสั่งที่ 66/2523 ประกาศ “หลักการเมืองนำการทหาร” โดยต้อนรับผู้คนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ให้วางอาวุธออกจากป่าคืนสู่เมืองโดยปราศจากความผิดใดๆ นำมาซึ่งผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่น้อมนำประเทศคืนสู่แผ่นดินแห่งสันติสุขได้อย่างสร้างสรรค์และสง่างาม เมื่อพิจารณาถึงผลพวงแห่งความขัดแย้งในระยะ 15 ปีที่ผ่านมามีข้อควรพิจารณาว่า  
 
          1. บุคคลที่มีความผิดฉกรรจ์ในคดีอาญา ในต่างกรรมต่างวาระล้วนได้รับโทษทัณฑ์กันไปแล้ว  
 
          2. คนไทยเป็นคนรักสันติ รักความสงบ เป็นวิถีดำเนินชีวิตของสังคมไทยตลอดมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบางช่วงของประวัติศาสตร์ มาจากการทำสงครามกับประเทศอื่น ความขัดแย้งในหมู่คนไทยจึงเป็นความแปลกแยก ที่ผิดเพี้ยนไปจากวิถีแห่งความเป็นไทยที่สืบเนื่องมายาวนาน การพลิกฟื้นคืนสู่สังคมที่สงบสุข สังคมแห่งความรู้รักสามัคคี ย่อมจะเอื้ออำนวยต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม เอื้อประโยชน์และโอกาสต่อการประกอบสัมมาชีพ และความอยู่ดีกินดีของครอบครัวและชุมชนไทยอย่างมีนัยสำคัญ

          3. คนไทยจำนวนหนึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะยุติความขัดแย้ง หยุดยั้งความรุนแรง เยียวยาความร้าวฉานในสังคม ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษให้แก่ผู้ต้องคดีทั้งมวล โดยยกเว้นไม่ครอบคลุมใน 3 กรณีคือ    
          - ผู้ต้อง (หาหรือจำเลยที่ได้กระทำความผิดใน) คดีทุจริต    
          - ผู้ต้อง (หาหรือจำเลยที่ได้กระทำความผิดใน) คดีอาญาร้ายแรง         
          - ผู้ต้องคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 (ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์)
         
          แนวทางเช่นนี้ คุณประสาร มฤคพิทักษ์ เห็นว่า เป็นการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้แก่ผู้ต้องคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้เสียหายโดยไม่บิดเบือนหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เป็นวิธีการที่ยังดำรงหลักนิติรัฐ นิติธรรมไว้ จะส่งผลอันเป็นคุณต่อชีวิตครอบครัวของผู้ต้องคดีและจะเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่ง ต่อการสร้างสานสามัคคีธรรมขึ้นมาในสังคมไทย   
 
          จากการศึกษาและสำรวจความเป็นจริง ได้พบว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้เป็นจุดลงตัวที่คู่ขัดแย้ง นักวิชาการ สื่อมวลชน ฝ่ายการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถจะยอมรับร่วมกันได้ และต่างปรารถนาจะก้าวไปสู่การสร้างสานติธรรมร่วมกัน จึงสมควรจัดให้มีการดำเนินการอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นทานบารมีครั้งยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของขวัญอันลํ้าค่าที่น่าปลาบปลื้มปีติมาสู่ประชาชน ชาวไทยทั้งมวลในรัชกาลปัจจุบัน”    

          จากบทความดังกล่าว ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอของ คุณประสาร มฤคพิทักษ์ ทุกประการ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะได้เดินหน้าเรื่องนี้ให้เกิดผลสำเร็จ เพราะเหตุแห่งความไม่สงบราบรื่นในทางการเมือง และบรรยากาศแห่งความไม่รู้รักสามัคคีปรองดองกันของคนในสังคมไทยนั้น ยังเป็นปัญหาและดำรงอยู่จริงยากที่จะปฏิเสธได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมาจากการที่รัฐบาลไม่ยอมเดินหน้าทำเรื่องนี้ให้จบ ทั้งๆ ที่ข้อเสนอเช่นนี้ ได้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย รวมถึงนักวิชาการ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนโดยทั่วไป ผ่านคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ชุดที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน สรุปเสนอรัฐบาลแล้ว  
   
           การที่รัฐบาลมิได้ดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงส่งผลต่อไฟแห่งความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำรงอยู่ต่อไป ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อต้านรัฐบาล คสช.ในอดีต ได้จับมือกับพวกที่สูญเสียอำนาจจากการรัฐประหาร พวกเขายังคงสุมหัวขยายปัญหาและสร้างความขัดแย้ง ผ่านบทบาทใหม่ในนามพรรคการเมือง อ้างความชอบธรรมตามกฎหมายว่าตนมาจากการเลือกตั้ง เป็นเครื่องกำบังการขับเคลื่อนทางการเมือง ภายใต้ร่มธงและข้ออ้างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ     

          ล้มล้างอำนาจ คสช.ด้วยการปลุกระดมมวลชน สร้างแนวร่วมใหม่ที่เห็นด้วยขึ้นมา ก่อเป็นขบวนการอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน หากมีการสะสมกำลังมากพอมีมวลชนสนับสนุนได้ระดับ ก็สามารถขยายผลเป็นการต่อสู้นอกสภา คู่ขนานไปกับการต่อสู้ในระบบรัฐสภา แล้วก็ดึงสากลต่างประเทศมาเข้าร่วมสนับสนุน ตามยุทธวิธีเดิมๆ ที่เคยใช้ป่วนเมืองเผาประเทศมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาในการช่วงชิงอำนาจรัฐ

 

          ด้วยเหตุดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาบทเรียนจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในการวางบทบาทความเป็นผู้นำประเทศ ด้วยความกล้าหาญที่สร้างความสามัคคีปรองดอง หยุดไฟความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการประกาศนโยบายการนิรโทษทางการเมืองในแนวทางดังกล่าว เพราะการกล้าหาญและเป็นผู้นำในเรื่องนี้ จะทำให้ท่านวางตนอยู่ในบทบาทที่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต และสามารถที่จะเรียกร้องความสามัคคีของคนในชาติ ให้หันมาร่วมมือกันแก้ปัญหาประเทศ นำพาชาติบ้านเมืองของเราให้เดินหน้าไปด้วยกันได้     

          ทั้งการดำเนินการตามนโยบายนิรโทษกรรมทางการเมือง จะทำให้รัฐบาลมีแนวร่วมและกองหนุนทางการเมืองที่เข้มแข็ง ด้วยความดีความซื่อสัตย์ ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะสามารถโดดเดี่ยวพวกที่ก่อปัญหาสร้างความขัดแย้งและยังจมปลักอยู่กับเรื่องการเมืองในอดีต ให้กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไร้พลัง ไร้เหตุผล ขาดกองหนุนและแนวร่วม ย่อมไม่อาจทำการใดสำเร็จให้เป็นปัญหากับประเทศชาติต่อไป     

          การอยู่ต่อไปของรัฐบาล จึงจะเป็น “การอยู่อย่างยิ่งใหญ่ และครบวาระไปอย่างมีเกียรติ” การดับไฟความขัดแย้ง สร้างความสามัคคีคนในชาติเท่านั้น จึงจะเป็นงานการเมืองที่ลบรอยอดีต สร้างอนาคตให้กับประเทศชาติ ควรแก่การยกย่องเยี่ยงรัฐบุรุษ ณ สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ยังมีเวลาและยังไม่สายที่จะตัดสินใจเพื่อภารกิจที่สำคัญและยิ่งใหญ่เช่นนี้ครับ