บูรณาการจัดการน้ำ ขับเคลื่อนทั้งระบบ

11 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย.2562

 

บูรณาการจัดการน้ำ

ขับเคลื่อนทั้งระบบ

 

          ภายหลังเผชิญสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและเกิดภาวะภัยแล้งอย่างยาวนานส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อไร่นาเกษตรกรและพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กลับถูกกระหนํ่าซํ้าเติมด้วยพิษภัยพายุดีเปรสชั่นส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่เหมือนเคราะห์ซํ้ากรรมซัดกับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในภาคอีสานและภาคเหนือ จากที่ก่อนหน้านี้เผชิญภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า กำลังซื้อถดถอยในกลุ่มฐานราก

          พิษภัยจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ก่อให้เกิดฝนกระหนํ่าอย่างรุนแรง เกิดภาวะนํ้าท่วมขังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และเฉพาะหน้าประชาชนขาดแคลนอาหาร นํ้าดื่ม ยารักษาโรค เกิดภาวะโรคระบาดที่มากับนํ้าท่วมตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าไปเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้กับผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที

          ภายหลังจากนํ้าลดที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในราว 20-30 วันหลังจากนี้ รัฐบาลควรบูรณาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในการจัดการบรรเทาสาธารณภัย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนให้กลับคืนสภาพเดิมโดยเร็ว รวมทั้งให้การช่วยเหลือในแง่ของการประกอบอาชีพ เยียวยาเกษตรกรที่ไร่ นา ผลผลิตเสียหายให้สามารถกลับมาเพาะปลูกได้โดยเร็ว

          ขณะเดียวกันหน่วยงานที่วางแผนอย่างกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) จะต้องมีแผนงานบริหารจัดการนํ้าอย่างเป็นระบบ ทั้งการกักเก็บนํ้า การระบายนํ้า การบริหารจัดการลุ่มนํ้าต่างๆ การเร่งปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารบังคับนํ้าที่มีอยู่ให้สามารถใช้การได้ตามปกติ ตลอดจนใช้อาคารบังคับนํ้าบริหารจัดการนํ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งหน่วงนํ้า ผันนํ้า วางระบบพื้นที่แก้มลิง พื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับนํ้า หน่วงนํ้า ลดผลกระทบพื้นที่ด้านล่างลงมา เพราะแม้พายุจะผ่านพ้นและนํ้าลด แต่ยังเป็นฤดูฝนที่มีปริมาณนํ้ามาก จึงต้องเร่งวางแผนดูแลจัดการ

          ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทย เผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งซํ้าซากและนํ้าท่วมจนกลายเป็นความเคยชิน เพราะขาดการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบเตรียมการรับมือล่วงหน้า การเตือนภัย ขาดแผนรับมือเฉพาะหน้าหรือรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน และแผนงานฟื้นฟูตามหลังภัยพิบัติธรรมชาติ เราเห็นถึงเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยราชการ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็งมากกว่านี้ เพื่อป้องกันปัญหาซํ้าๆเดิมๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่โทษว่าธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว