ยอดเติมเงินมือถือ‘บุญเติม’ ค่า 3 หมื่นล้าน ไม่ตกแต่ไม่โต

13 ก.ย. 2562 | 08:25 น.

 

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นของ บริษัทฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ปรับตัวลดลง 10% โดยราคาปิดอยู่ที่ 6.75 บาท

การปรับตัวลดลงครั้งนี้เกิดอะไรขึ้น หรือว่าผู้ถือหุ้นบางรายตัดขายหุ้นทิ้ง เพราะธุรกิจตู้เติมเงินมือถือไม่สดใสเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากถูกดิสรัปชัน

อย่างไรก็ตามฐานเศรษฐกิจได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี  กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ติดตามอ่านบรรทัดถัดจากนี้

ยอดเติมเงินมือถือ‘บุญเติม’  ค่า 3 หมื่นล้าน ไม่ตกแต่ไม่โต

ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี 

 

ตู้เติมเงินถูกดิสรัปชัน

ไม่ถูกดิสรัปชันนะครับ ต้อง แยกระหว่างราคาหุ้น และผลประกอบการธุรกิจของ FSMART รายได้และกำไรไม่ได้ตก ยังคงเหมือนเดิม ทิศทางและอนาคตธุรกิจไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาเชื่อว่าเป็นการเล่นราคาระยะสั้นมีการพูดถึงหุ้นที่ซื้อคืนจำนวน 20 ล้านหุ้นขายออกไปนั้น บริษัทแม่คือ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ขายหุ้นอะไรออกมาน่าจะเป็นความกังวลมากกว่า

ดังนั้นภายในปีนี้รายได้และกำไรอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท และกำไร 583 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้บริษัทเพิ่มบริการใหม่ๆ ผ่านตู้บุญเติมหลายรายการ และจะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2563 โดยจะให้บริการ นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตคาดว่จะได้รับปลายปีนี้

ทั้งนี้ในช่วงแรกบริษัทจะเริ่มธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อ ส่วนบุคคลก่อน เบื้องต้นกลุ่มเป้าหมายคือตัวแทนที่นำตู้บุญเติมไปตั้ง ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณแสนราย เพราะความเสี่ยงน้อยจากการที่ทำธุรกิจร่วมกันมานาน ส่วนอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยสินเชื่อก็จะเป็นไปตามกลไกตลาดที่อยู่ในช่วง 20-28%


 

 

ความคืบหน้าแบงกิ้งเอเยนต์

เดือนนี้เตรียมแถลงข่าวกับแบงกิ้งเอเยนต์ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร หรือ .. เพื่อขายสลากออมทรัพย์ผ่านตู้เติมเงิน ราคาสลากตํ่าสุด 20 บาท แต่ถ้าซื้อผ่านตู้เติมเงินบุญเติมเสียเพิ่มประมาณ 2 บาท

อย่างไรก็ตามถือว่าธุรกรรมทางด้านการเงินของบุญเติมเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดมีจำนวน 1 ล้านรายการต่อเดือนโอนเงินจำนวน 700 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้แล้วอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้บริการสินเชื่อ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะดำเนิน การได้ เพราะบริษัทยื่นขอใบอนุญาตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หากมีการอนุมัติใบอนุญาตภายในเร็วๆ นี้ ปล่อยสินเชื่อได้ประมาณไตรมาส 4/2562

สำหรับแผนปล่อยสินเชื่อเฟสแรกปล่อยให้กับกลุ่มตัวแทนบุญเติม หรือมีบุญเติมติดตั้งหน้าร้านจำนวน 1 แสนราย โดยปีแรกจะปล่อยจำนวน 5 หมื่นรายรายละ 1 หมื่นบาทคิดอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี

 

ยอดเติมเงินมือถือ‘บุญเติม’  ค่า 3 หมื่นล้าน ไม่ตกแต่ไม่โต

 

เหตุผลที่ขยายธุรกิจเพิ่ม

รายได้หลัก 99% มาจากการเติมเงินผ่านตู้บุญเติม เมื่อเกิดความไม่แน่นอน ลูกค้าเปลี่ยน แปลงพฤติกรรม เทคโนโลยีเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทต้องปรับกลยุทธ์หารายได้เพิ่ม เพราะตู้เติมเงินเหมือนกับหุ่นยนต์หานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

เนื่องจากว่ารายได้จากการเติมเงินมือถือจำนวน 22 ล้านเลขหมายทำให้ยอดเติมเงินมีมูลค่าทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งยอดเติมเงินไม่ตกแค่ไม่โตเท่านั้น ดังนั้นบริษัทต้องรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้

สำหรับตู้เวนดิ้งแมชีน ปัจจุบันมีให้บริการ 2,500 ตู้ ภายในสิ้นปีเพิ่มเป็น 4,000 ตู้ ปี 2563 เพิ่มเป็น 1 หมื่นตู้

การแข่งขัน

ตู้เติมเงินมือถือของผู้ประกอบการรายอื่นเน้นแต่เติมมือถือจะเหนื่อยหน่อย ตู้ยี่ห้ออื่นขายแบบเงินผ่อนพอผ่อนไป 5-6 ปี ถ้าร้านค้าซื้อไปติดตั้งและไม่มีรายได้ไม่ผ่อนต่อก็ต้องคืนตู้

ส่วนตู้บุญเติมนั้น บุญเติม เป็นเจ้าของตู้ทั้งหมดเมื่อมีร้านค้ายื่นขอติดตั้งแล้วบริษัทแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของร้านค้า เพราะ เราทำธุรกิจแบบ วิน-วิน

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562

ยอดเติมเงินมือถือ‘บุญเติม’  ค่า 3 หมื่นล้าน ไม่ตกแต่ไม่โต