จะ ‘อยู่’ หรือ ‘ไป’ ชาวต่างชาติในฮ่องกงผวา อนาคตมีแต่ความเสี่ยง

09 ก.ย. 2562 | 05:21 น.

การชุมนุมประท้วงที่ทวีความรุนแรงทำให้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในฮ่องกง หรือเหล่าเอ็กซ์แพท (expatriate) ต้องคิดหนักเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองในเมืองใหญ่ระดับโลกที่เป็นเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า นี่คือจุดเปลี่ยนอนาคตของฮ่องกงใช่หรือไม่ และในอนาคตระยะยาวฮ่องกงยังจะคงความเป็นเมืองใหญ่ระดับโลกที่เป็นทั้งศูนย์กลางการเงิน-การค้า-การท่องเที่ยวอย่างที่เป็นมาเอาไว้ได้อยู่อีกหรือไม่  

 

สถิติ ณ สิ้นปี 2561 ชี้ว่า มีชาวต่างชาติที่เป็นผู้พำนักในฮ่องกงจำนวนมากกว่า 650,000 คน ไม่นับรวมชาวจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 1 ล้านคน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในฮ่องกงจำนวนมากกำลังคิดใคร่ครวญว่าควรจะอยู่ต่อหรือย้ายออกไปจากฮ่องกง  หลายคนคิดว่าคำตอบคืออย่างหลัง เมดิลิน บาร์ดิน ผู้ประกอบการธุรกิจวัย 36 ปี ย้ายจากลอนดอนมาพำนักอยู่ในฮ่องกงได้ 7 ปีแล้ว เธอกำลังกังวลว่าความยุ่งเหยิงวุ่นวายในฮ่องกงที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนไม่น่าจะยุติได้ในเร็ววัน ทุกวันนี้เธอจะไม่พาลูกชายวัย 8 เดือนออกไปไหนเลยถ้าไม่ได้สอบถามในกลุ่มแชตก่อน หรือเช็คข่าวว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาที่ไหนหรือไม่ เมื่อเร็วๆนี้  เธอยังยกเลิกการเดินทางไปทำธุรกิจเพราะห่วงว่าการชุมนุมปิดล้อมสนามบินจะทำให้เธอไม่ได้กลับบ้านในตอนขากลับ ครอบครัวเรามีลูกเล็กๆให้ต้องคิดถึง ฉันมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในฮ่องกง ในระยะยาว ฉันมองว่าไม่มีเหตุผลที่เราจะอยู่ที่นี่ต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

การที่ฮ่องกงสามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ทำให้อดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้สามารถพัฒนาก้าวหน้ากลายเป็นศูนย์กลางการเงินและการพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่สถานภาพดังกล่าวกำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆจากภาวะวิกฤติทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นและนับเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ที่ฮ่องกงกลับคืนสู่อาณัติการปกครองของจีนในปี 2540 ทั้งผู้ประกอบการต่างชาติและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในฮ่องกงต้องใคร่ครวญอย่างหนักเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว


 

 

การผละออกจากฮ่องกงของชาวต่างชาติจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับฮ่องกงได้อย่างรุนแรง ด้วยความที่ปัจจุบันฮ่องกงเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของบริษัทต่างชาติจำนวนหลายร้อยบริษัท ทั้งยังเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย

เศรษฐกิจฮ่องกงยังถูกปกคลุมด้วยเมฆฝนอึมครึมของวิกฤติทางสังคมและการเมือง

• ฟิทช์ เรทติ้งส์ ลดเครดิตความน่าเชื่อถือ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 ก.ย.) ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้ปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือทางการเงินของฮ่องกงลง โดยให้เหตุผลว่า วิกฤติการเมืองที่ยืดเยื้อได้สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ในระดับสากลของฮ่องกง และความขุ่นเคืองใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลก็มีแนวโน้มว่าจะยังมีอยู่และคุกรุ่นต่อไปอีกแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศถอดถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่เป็นสาเหตุของการชุมนุมประท้วงในช่วงแรกๆ อย่างเป็นทางการไปแล้วก็ตาม หลังสิ้นเสียงฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮ่องกงลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง การชุมนุมก็ทวีความรุนแรงขึ้นมาอีก โดยผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งได้ทุบทำลายเสาไฟจราจรและจุดไฟบนถนน ทำให้ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลาย ต่อด้วยเหตุการณ์ในวันเสาร์ (7 ก.ย.) เมื่อผู้ชุมนุมเข้าปิดกั้นย่านมงก๊ก ซึ่งเป็นย่านค้าขายและแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยม แล้วจุดไฟเผาเครื่องกีดขวางหน้าสถานีตำรวจ ก่อนที่จะถูกตำรวจปราบจลาจลเข้าไล่จับกุม  เหตุการณ์ยังคงวุ่นวายในหลายพื้นที่รวมทั้งเซ็นทรัลฮ่องกงซึ่งเป็นย่านใจกลางธุรกิจที่สำคัญเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (8 ก.ย.) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘แคร์รี แลม’ โต้ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ หลังฮ่องกงถูกลดเครดิต-หั่นคาดการณ์ GDP เหลือ 0%

แม้แต่ผู้ที่เห็นใจและเลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายผู้ชุมนุม ก็ยังอดหวั่นใจไม่ได้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งวัย 36 บอกเพียงชื่อ “ไอวา” เล่าว่า เธอมาทำงานเป็นแม่บ้านที่ฮ่องกงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว  จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ซึ่งเธอได้เห็นผู้ชุมนุมวิ่งหนีตำรวจมาตามท้องถนนและจุดไฟเผาบริเวณทางเข้าสถานีรถไฟในย่านเซ็นทรัลฮ่องกง ทำให้เธอไม่แน่ใจแล้วว่าควรจะต่ออายุวีซ่าเพื่อขออยู่ต่อในฮ่องกงหรือไม่  “เข้าใจหรอกว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและอนาคต แต่เหตุการณ์มันก็อันตรายมาก แล้วก็สร้างความเดือดร้อนด้วย เวลาที่ไม่มีบริการขนส่งสาธารณะแล้วจะให้พวกเรากลับบ้านยังไง” ไอวากล่าว

 

บรรยากาศของเมืองใหญ่ที่คึกคัก มีชีวิตชีวา และเอื้อต่อการค้า-การลงทุน อัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำมากพอๆกับอัตราภาษี ล้วนแล้วแต่เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนทำงานมืออาชีพจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นนักการธนาคาร นักกฎหมาย หรือแวดวงอื่นๆ ให้มุ่งหน้ามาทำงานและพำนักในฮ่องกง แม้ว่าจะต้องสู้กับค่าเช่าที่พักและอาคารสำนักงานราคาแพงลิบลิ่วก็ตาม  สถิติ ณ สิ้นปี 2561 ชี้ว่า มีชาวต่างชาติที่เป็นผู้พำนักในฮ่องกงจำนวนมากกว่า 650,000 คน ไม่นับรวมชาวจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 1 ล้านคนที่เข้ามาพำนักในฮ่องกงนับตั้งแต่ที่คืนสู่อำนาจการปกครองของจีนในปี 2540 ส่วนจำนวนพลเมืองฮ่องกงเองนั้นมี 7.5 ล้านคน


 

 

• ยอดการต่อวีซ่าขอทำงานลดลง

แม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงจะยังไม่เผยแพร่ตัวเลขล่าสุดของปีนี้เกี่ยวกับสถิติชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในฮ่องกงและการเข้า-ออกของชาวต่างชาติในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุม ซึ่งต่อมาได้ลุกลามกลายเป็นการจลาจลในระยะหลังๆ แต่ก็มีสัญญาณที่ปรากฏออกมาชัดเจนแล้วว่า ชาวต่างชาติเริ่มคิดหนักเกี่ยวกับการพำนักอยู่เพื่อทำงานในฮ่องกง  ตัวอย่างหนึ่งสะท้อนจาก ตัวเลขการยื่นขอวีซ่าเพื่อสามารถทำงานในฮ่องกงช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 นับเป็นการลดลงครั้งแรกหลังจากที่เพิ่มขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ต้นปี 2562 ขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักชั่วคราวในฮ่องกง ภายในระยะ 1-3 เดือน (mobile residents) มีจำนวนลดลง 4.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้  เป็นอัตราลดลงที่มากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

 

ในช่องทางออนไลน์ ฟอรัม หรือการอภิปรายออนไลน์ของชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในฮ่องกง หัวข้อหรือประเด็นที่ผู้คนเข้ามาปรึกษาหารือหรือตั้งกระทู้ถกกันอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ ได้แก่คำถามประเภทที่ว่า ถ้าเป็นคุณแม่ใกล้คลอด ควรจะบินออกจากฮ่องกงเพื่อไปคลอดในประเทศอื่นหรือไม่ และปลอดภัยหรือเปล่าที่จะปล่อยให้ลูกๆใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะในฮ่องกง หรือควรจะโยกย้ายออกจากฮ่องกงไปเลยดีหรือไม่ หลายคนกังวลว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังจะเลิกใช้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” กับฮ่องกงซึ่งภายใต้ระบบนี้ฮ่องกงยังจะได้รับสิทธิพิเศษหลายประการและได้รับอิสรเสรีภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากมณฑลหรือเขตปกครองอื่นๆของจีน

แม่เหล็กของฮ่องกงที่ดึงดูดชาวต่างชาติคือสังคมที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และมีสีสัน ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้

จาก World City  กลายเป็นเมืองอันตราย

นายโล คิน-เฮ รองประธานพรรคประชาธิปไตยฮ่องกง ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ฮ่องกงดำรงสถานะเมืองใหญ่ระดับโลกของเอเชียเพราะมีคุณค่าหลายประการเกื้อหนุน แต่เมื่อจีนเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในระยะขวบปีหลังๆนี้ สถานภาพดังกล่าวก็เริ่มสั่นคลอน และถ้าหากคุณค่าของฮ่องกงที่เคยมีมา ถูกทำลายไป สถานภาพ เมืองใหญ่ระดับโลกแห่งเอเชีย หรือ Asia’s World City  ก็จะหมดไปโดยไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการ ‘อยู่ต่อ’ หรือ ‘จากไป’ ที่บรรดาชาวต่างชาติในฮ่องกงกำลังถกเถียงกันอยู่นี้ ยังมีผู้ที่เห็นว่า ความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขามากนัก หรือถ้ามีก็น้อยมาก และพวกเขาเชื่อว่าฮ่องกงจะสามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมนี้ออกมาด้วยดี เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินในเอเชีย และเมื่อครั้งที่โรคซาร์สซึ่งเป็นไข้หวัดชนิดเฉียบพลันและรุนแรงระบาดในฮ่องกงในปี 2546  ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในฮ่องกงจำนวนหนึ่งยังไปเข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมออกสื่ออย่างเปิดเผย  บางส่วนก็ยอมรับถึงความเสี่ยงแต่ก็ยืนยันจะอยู่ต่อด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ในการสำรวจความคิดเห็นของแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาทำงานในฮ่องกงจำนวน 982 คน (จัดทำโดยองค์กร HelperChoice ) พบว่า 45% ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง แต่ก็ยังอยากอยู่ต่อเพราะค่าจ้างแรงงานในฮ่องกงสูงกว่าในประเทศของตนเองมาก

 

 

รัฐบาลฮ่องกงเองก็รู้ตัวดีว่าภาพลักษณ์ของฮ่องกงกำลังเสื่อมเสีย จึงได้มีการซื้อพื้นที่สื่อเป็นการโฆษณา 1 หน้าเต็มๆของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ลงข้อความว่าฮ่องกงยังคงเป็นมหานครที่ปลอดภัย เปิดกว้าง เป็นมิตรและยินดีต้อนรับชาวต่างชาติ และเป็นสังคมที่มีสีสัน เชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆทั่วโลก และเศรษฐกิจก็มีพลวัตรขับเคลื่อนไปข้างหน้า “เราจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย เราทำเช่นนั้นได้เสมอ”  

 

  • วิกฤตครั้งนี้แรงกว่าเมื่อครั้งอดีต

ในความเป็นจริงก็คือ ที่ผ่านมา ฮ่องกงกลับมายืนอย่างแข็งแกร่งได้เสมอหลังผ่านพ้นภาวะวิกฤติ เช่นหลังเกิดเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกว่า การปฏิวัติร่มในปี 2557 แต่นักวิเคราะห์มองว่าวิกฤติการชุมนุมประท้วงในปีนี้ ได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะการชุมนุมของมวลมหาชนไม่เพียงเกิดขึ้นบนถนน สนามบิน สถานีรถไฟ ศูนย์การค้าหรือแม้แต่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่มันยังกำลังฉุดรั้งทั้งอุตสาหกรรมค้าปลีกและการท่องเที่ยวและดำดิ่งลงมาด้วย จนกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้  

 

แนวโน้มดังกล่าวยิ่งใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเมื่อการชุมนุมประท้วงยิ่งทวีความรุนแรง รัฐบาลฮ่องกงเคยเปรยๆออกมาแล้วว่า ถ้าจำเป็นถึงที่สุดก็อาจจะต้องประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งจะทำให้มีการควบคุมดูแลในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในสังคมเพิ่มขึ้นในระดับเข้มงวด หมายรวมถึงการสกัดกั้นการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและปิดสถานที่ทำการ ในส่วนของรัฐบาลจีนปักกิ่งก็ส่งสัญญาณมาหลายครั้งแล้วว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็พร้อมจะส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ PLA จากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ตลอดเวลา  

 

  • ชาวจีนในฮ่องกงก็ได้รับผลกระทบ

ชาวต่างชาติอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเผชิญความยากลำบากในการพำนักในฮ่องกง ณ ช่วงเวลานี้ คือ ชาวจีนแผนดินใหญ่ที่เข้ามาทำงานในฮ่องกงในสาขาวิชาชีพต่างๆ เพราะตอนนี้กำลังเกิดกระแสต่อต้านคนจีนแผ่นดินใหญ่ นายธนาคารชาวจีนที่ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งเผยว่า เขามาจากจีนแผ่นดินใหญ่และทำงานในฮ่องกงมานานนับ 10 ปี แต่ตอนนี้เวลาออกจากบ้าน ภรรยาจะคอยเตือนว่าอย่าพูดภาษาจีนกลางในที่สาธารณะเพราะอาจจะไม่ปลอดภัย ทั้งคู่เคยคิดจะใช้ชีวิตหลังเกษียณในฮ่องกง แต่ตอนนี้คิดใหม่ว่าจะไปอยู่เสิ่นเจิ้นแทนแล้ว

 

เจสัน แทน ผู้อำนวยการบริษัท เคลลี่ เซอร์วิสเซส ที่ให้บริการรับจัดหางานในเมืองเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้รับโทรศัพท์อย่างน้อยวันละ 20 สายที่โทรเข้ามาจากบรรดาชาวจีนที่ทำอาชีพในแวดวงการเงินอยู่ในฮ่องกง เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการโยกย้ายงานจากฮ่องกงกลับมายังจีนแผ่นดินใหญ่ “พวกเขากำลังมองหาทุ่งหญ้าแห่งใหม่ที่เขียวใสกว่าในฮ่องกง” เป็นคำเปรียบเปรยที่สะท้อนสถานการณ์บางอย่างในฮ่องกง ณ ช่วงเวลานี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Big Story วิกฤตฮ่องกง