งบ 63 ล่าช้า 5 เดือน‘อมพระ’ไม่ระคาย

08 ก.ย. 2562 | 10:30 น.

 

ธปท.ยันงบปี 63 ล่าช้าออกไปเป็น 5 เดือน ไม่กระทบการลงทุน เหตุมีงบผูกพันเหลื่อมปีที่เดินหน้าต่อได้ ทางหลวงแจง มีโครงการงบเกิน 100 ล้านกว่า 100 โครงการที่จะเดินหน้าต่อได้ สศค.หวังอีอีซี หนุนลงทุนโต ดันเศรษฐกิจ ปีหน้าโตมากกว่า 3% ยันบริโภคตํ่าสุด 33 เดือน ไม่น่าห่วงเหตุชะลอตามเศรษฐกิจโลก

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ภายใต้กรอบงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน และคาดว่านำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคมเพื่อพิจารณาวาระที่ 1 ตามขั้นตอนต่อไปและคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม ล่าช้ากว่าเดิมที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2563

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เท่าที่ทราบไม่น่าจะถึงเดือนมีนาคม แต่อาจจะล่าช้าเป็นเดือนกุมภาพันธ์แทน แต่เชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจเดิม เพราะยังมีงบผูกพันเหลื่อมปีที่อนุมัติและทำสัญญาไว้แล้ว ยังสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนส่วนนี้ไปได้ และจะทำให้มีงบประมาณบางส่วนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ในระหว่างรองบลงทุนใหม่

สำหรับกระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 วงเงิน 1.78 ล้านล้านบาทคาดว่า อย่างช้าจะบังคับใช้ได้ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์  2563 โดยในส่วนของกรมทางหลวงได้รับจัดสรรกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์สายใหม่ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ได้รับจัดสรรโครงการอะไรบ้าง แต่สำนักงบประมาณจะเบิกจ่าย 50% สำหรับงบประมาณผูกพันและงบดำเนินการอย่างไรก็ตามนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดี กรมทางหลวง ระบุว่า โครงการตามงบประมาณผูกพัน ที่มีงบประมาณเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไปมีกว่า 100 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น มอเตอร์เวย์, การก่อสร้างและขยายเขตทาง

 

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2563 โดยเฉพาะการคาดการณ์สงครามการค้าจะยืดเยื้อไปถึงช่วงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกซึมยาวไปตลอดทั้งปี ดังนั้นไทยจะต้องพยายามประคองตัวด้วยการผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความหวังว่า มาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและพร้อมเข้ามาลงทุนตามแผน

“EEC เป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งถ้าเป็นตามเป้า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตได้มากกว่าปีนี้ แต่จะเท่าคาดการณ์เดิมที่ 3.9% หรือไม่นั้น ต้องขอรอดูปัจจัยอื่นในอนาคตประกอบด้วย” 

ส่วนการบริโภคที่ปรับตัวลดลงตํ่าสุดในรอบ 33 เดือนนั้น ถือว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบเชื่อมต่อมายังเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัว ทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถือเป็นภาวะปกติที่ไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลได้มีแผนการฟื้นกำลังซื้อในประเทศไม่ให้หยุดชะงัก ซึ่งเชื่อว่าหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวออกไป จะทำให้กำลังซื้อในประเทศฟื้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะกลับมาได้เองและทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3% หรือดีขึ้นเป็น 3.5% ได้ตามเป้าหมาย 

“ปีหน้าการบริโภคยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่าปีนี้หรือมากกว่า 3% จากการส่งออก ที่คาดว่า จะขยายตัวได้ดีขึ้นขณะที่การลงทุนภาคเอกชน จะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นกว่าปีนี้”

ขณะที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ได้กำชับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ13 แห่งในสังกัดเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งรสก.ทั้ง 13 แห่งมีแผนลงทุนทั้งปี 1.41 แสนล้านบาท โดยผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสิ้นเดือนสิงหาคมทั้งสิ้น 73,773 ล้านบาท คิดเป็น 52.32% และจะมีการเบิกจ่ายในเดือนกันยายนอีก 11,664 ล้านบาท ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุน ประจำปี 2562 มีทั้งสิ้น 85,437 ล้านบาทหรือ 60.59% 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

งบ 63 ล่าช้า 5 เดือน‘อมพระ’ไม่ระคาย