สตูลฟื้นตัดถนนเชื่อม‘เปอร์ลิส’ ดูดท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจ

08 ก.ย. 2562 | 23:30 น.

สตูลฟื้นตัดถนนเชื่อม‘เปอร์ลิส’ ดูดท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจ.-ขออยู่กลุ่มจชต.

 

สตูลสุดตันขอย้ายอยู่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังรับสิทธิพิเศษการลงทุน-งบประมาณรัฐ หอการค้าจี้รัฐเปิดเมืองดันฟื้นแผนตัดถนนเชื่อมรัฐเปอร์ลิสของมาเลเซีย ดึง ท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจ

สตูลฟื้นตัดถนนเชื่อม‘เปอร์ลิส’ ดูดท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจ

นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ ประธานหอการค้าฯสตูล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สตูลมีข้อจำกัดเรื่องการคมนาคม ไม่มีสนามบิน ไม่มีทางรถไฟ อยู่ทางใต้ปลายสุดฝั่งอันดามัน ติดรัฐเปอร์ลิสของมาเลเซีย การเดินทางเข้าพื้นที่ค่อนข้างลำบาก ต้องลงที่ตรังหรือหาดใหญ่แล้วต่อเข้าสตูลอีกทอด การโปรโมตท่องเที่ยวทำได้ยาก แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา หรืออุทยานธรณีโลก (จีโอปาร์ค) ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก ยิ่งเวลานี้ราคายางพารา-ปาล์มนํ้ามันตกตํ่าทำให้เศรษฐกิจพื้นที่ฝืดเคือง

หอการค้าฯสตูลมีแผนพัฒนา 4 ปี (2559-2562) คือ 1.พัฒนาจุดเชื่อมโยงการค้าการท่องเที่ยวกับอาเซียน ทางถนนเริ่มจากสตูลไปมาเลเซียต่อถึงสิงคโปร์ ส่วนทางนํ้าเชื่อมไทย มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย 2.เพิ่มศักยภาพรองรับทางด้านการท่องเที่ยว 3.ส่งเสริมการลงทุน สตูลมีพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ เป็นทะเล 6 แสนไร่ ป่า 6 แสนไร่ และพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ 3 แสนไร่เท่านั้น สตูลต้องได้รับการพัฒนาทางด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ประชาชน สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

การประชุมครม.สัญจรที่ชุมพร ได้เห็นชอบหลักการที่หอการค้าสตูลเสนอแผนตัดถนนเชื่อมรัฐปะลิสของมาเลเซีย แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

สตูลฟื้นตัดถนนเชื่อม‘เปอร์ลิส’ ดูดท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจ

ภาพแนวคิดถนนเชื่อมเปอร์ลิส

การตัดเส้นนี้มีความสำคัญต่อการค้า การลงทุนและท่องเที่ยวระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ สตูลมีเส้นทางรถยนต์ติดทางเข้าออกกับมาเลเซียที่ด่านบ้านวังประจัน แต่เส้นทางเชื่อมของมาเลเซียที่บ้านวังกะเรียนนั้น พื้นที่เป็นภูเขาสูง การคมนาคมสินค้าไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย การเดินทางนํ้าโดยเรือไปยังเกาะลังกาวี และรัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย

สตูลผลักดันแผนตัดถนนเชื่อมรัฐเปอร์ลิสของมาเลเซียมานาน เมื่อปี 2526 สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เสนอเข้าครม. แต่ติดปัญหาแนวเส้นทางต้องตัดผ่านพื้นที่ป่าโกงกางทั้งในฝั่งไทยและมาเลเซีย จึงพับแผนไป ต่อมาปี 2551 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติงบ 63 ล้านบาทศึกษาอีกครั้ง พบว่าไปกระทบแหล่งนํ้าธรรมชาติขนาดใหญ่ในมาเลเซีย จนต้องล้มเลิกไปอีก และปี 2559 เอกชนพยายามผลักดันอีกครั้งจะให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ศึกษาอีกรอบ แต่เรื่องก็เงียบหายไป

ประธานหอการค้าฯสตูลกล่าวด้วยว่า คนสตูลต้องการไปอยู่ร่วมกลุ่ม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสอดรับกันทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมมุสลิม รวมทั้งรัฐบาลจะได้จัดงบประมาณพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ความต้องการของคนสตูลที่ถูกทางการจัดไปอยู่ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดอันดามัน ที่มองมิติการท่องเที่ยวอย่างเดียว โดยไม่มีมิติเรื่องการค้าชายแดน หรือวิถีชีวิตวัฒนธรรมมุสลิม เชื่อมต่อไม่ได้ ต้องอยู่โดดเดี่ยวในกลุ่มอันดามัน เป็นการบูรณาการที่ไม่ตรงความต้อง การของประชาชน

ทั้งนี้ การจัดสตูลไปรวมอยู่กับกลุ่ม 4 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นคนละเรื่องกับเรื่องความมั่นคง อย่าไปเหมารวมกับเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้น ที่คนสตูลต้องการคือ การเชื่อมโยงไปอยู่ในกลุ่มชายแดนเท่านั้น เพื่อผลักดันเรื่องการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว เพราะจะได้สิทธิพิเศษทางด้านการค้า การลงทุนมากขึ้น 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,503 วันที่ 8 - 11 กันยายน 2562

สตูลฟื้นตัดถนนเชื่อม‘เปอร์ลิส’ ดูดท่องเที่ยวปลุกเศรษฐกิจ