ปะการังเทียม จากขาแท่น ทางออกรื้อถอนปิโตรเลียม

08 ก.ย. 2562 | 23:40 น.

บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง สัตหีบ และศรีราชา จังหวัดชลบุรี และบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ภายใต้เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี กำลังจะเป็นพื้นที่ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประเทศ จากการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการราว 5-6 ราย ในการตั้งโรงงานแยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอนแท่นอุปกรณ์ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่มีจำนวนกว่า 464 แท่น ซึ่งปัจจุบันมี 2-3 รายได้เปิดดำเนินการแล้ว ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เช่น บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นต้น ที่ผ่านมารับผิดชอบในการจัดการและคัดแยกชิ้นส่วน ส่วนบนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่หมดอายุจำนวน 4 แท่น ของบริษัท เชฟรอนประเทศ ไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า มีการประเมินว่าในช่วงปี 2563-2565 จะเริ่มมีการรื้อถอนแท่นขุดเจาะ ปิโตรเลียมก่อน 80 แท่น ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนฯ ส่วนแนวทางการรื้อถอน จะเป็นอย่างไรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการพิจารณาแผนดำเนินการรื้อถอน ที่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายฝ่ายร่วมพิจารณาเห็นชอบ เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นต้น ว่าแนวทางใดจะคุ้มค่า และเป็นประโยชน์มากที่สุด

 

ปะการังเทียม จากขาแท่น  ทางออกรื้อถอนปิโตรเลียม

 

ศึกษาทำปะการังเทียม

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ว่าแนวทางการรื้อถอนจะยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินงานโดยวิธีใด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่จากที่สถาบันได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินโครงการศึกษาทดลองจัดสร้างโมเดลจำลองขาแท่นปิโตรเลียม ที่ใช้วัสดุที่เป็นเหล็กคาร์บอน เช่นเดียวกับขาแท่นจริง แต่มีขนาดที่เล็กกว่า คือประมาณ 12 คูณ 12 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 แท่น นํ้าหนักประมาณ 50-75 ตัน ที่ระดับความลึก 18-20 เมตร บริเวณอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2556 เพื่อศึกษาวิจัยทดลองการจัดสร้างปะการังเทียมที่ทำจากโครงสร้างเหล็กเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรสัตว์นํ้า ลดปัญหาการรุกลํ้าชายฝั่งของเรือประมงผิดกฎหมาย และเป็นแนวป้องกันการลักลอบทำการประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง อวนลาก อวนรุน


 

 

ฟื้นระบบนิเวศในทะล

จากการติดตามผลเกือบ 6 ปี พบว่าเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เป็นอย่างดี สามารถที่จะป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายจากเรืออวนลาก อวนรุน อย่างได้ผล อีกทั้งยังพบว่าที่พื้นผิวโครงสร้างเหล็กมีปะการังเทียมและสัตว์เกาะติดหนาแน่น อาทิ ฟองนํ้า สาหร่ายท่อ เพรียงหิน เพรียงภูเขาไฟ แพลงก์ตอนพืช แพลงตอนสัตว์ ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร และมีปลาอย่างน้อย 24 ชนิด อาศัยบริเวณแนวปะการัง และกว่า 80% เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งโครงการนี้เป็นที่ยอมรับจากชาวชุมชนโฉลกหลำ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์นํ้าให้เพิ่มมากขึ้น และช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่จะนำขาแท่นมาใช้ในการทำปะการังเทียมในระยะต่อไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และไม่เป็นอันตราย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องตัดสินใจแนวทางการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมได้ง่ายขึ้น

 

เพิ่มพื้นที่ดำน้ำสร้างรายได้

ขณะที่นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการติดตามผลการดำเนินงานไม่พบผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงและแหล่งท่องเที่ยวดำนํ้าที่สำคัญ เป็นการช่วยลดจำนวนนักดำนํ้าออกจากพื้นที่ปะการังธรรมชาติได้ ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง

 

ประมงหนุนจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

นายพงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้าน โฉลกหลำ .7 .เกาะพะงัน .เกาะพะงัน .สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กได้สร้างผลประโยชน์ให้กับคนพะงันโดยตรงทุกๆ กลุ่ม โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่สามารถจับสัตว์นํ้าได้ปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะปะการังเทียมกลายเป็นที่อยู่และบ้านที่ปลอดภัยของสัตว์นํ้าขนาดเล็กดึงดูดให้สัตว์นํ้าเศรษฐกิจอื่นๆ เข้ามาตามห่วงโซ่อาหาร ปริมาณสัตว์นํ้าเพิ่มขึ้นทำให้ชาวประมงพื้นบ้านอยู่ได้ และได้กลายเป็นแหล่งดำนํ้า ดูปะการังที่สำคัญในอนาคตเมื่อมีปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมในพื้นที่เพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านได้เพิ่มขึ้น หรือช่วยสร้างให้คนมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่งผลไปถึงอนาคต ลูกหลานในการเรียนในการศึกษา ซึ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันทั้งหมด

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

ปะการังเทียม จากขาแท่น  ทางออกรื้อถอนปิโตรเลียม